ไฮยาลูรอน (Hyaluronic Acid) ช่วยลดริ้วรอย!…บริโภคอย่างไรให้ปลอดภัย?

1639
ก็ไฮยาลูรอน / กรดไฮยาลูโรนิค (Hyaluronic Acid)

ถ้าให้นึกถึงสารที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว ชะลอริ้วรอย ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง หลายคนคงนึกถึงคอลลาเจนและวิตามินซีกันเป็นส่วนใหญ่ แท้จริงแล้วยังมีสารอีกชนิดที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว และมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมากมาย นั่นก็ไฮยาลูรอน หรือ กรดไฮยาลูโรนิค (Hyaluronic Acid) นั่นเอง

ไฮยาลูรอนคืออะไร?

ไฮยาลูรอน หรือ กรดไฮยาลูโรนิค (Hyaluronic Acid) เป็นโมเลกุลน้ำตาลชนิดหนึ่งเรียกว่า พอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide) มีอยู่ในร่างกายและร่างกายสามารถสร้างขึ้นได้เอง มีคุณสมบัติอุ้มน้ำได้ดี เป็นส่วนประกอบหลักบริเวณจุดเชื่อมต่อของร่างกาย โดยอยู่ที่ชั้นผิวหนัง 50% อยู่ที่กระดูกอ่อนและส่วนอื่นๆ อีก 50% มีอยู่มากในน้ำไขข้อหล่อเลี้ยงข้อต่อ ข้อเข่า น้ำหล่อเลี้ยงลูกตา น้ำหล่อลื่นบริเวณส่วนต่างๆ มีความสำคัญในการลดแรงเสียดสีของอวัยวะและเซลล์

ไฮยาลูรอนถูกสร้างขึ้นบริเวณผิวชั้นล่าง (Dermis) และบริเวณผิวหนังชั้นบน (Epidermis) โดยไฮยาลูรอนจะทำงานร่วมกับโปรตีนคอลลาเจน และอีลาสติน ช่วยในการเพิ่มความยืดหยุ่นและชุ่มชื้นให้แก่เซลล์ผิวหนัง จึงทำให้ผิวนุ่ม ลื่น และยืดหยุ่น ชะลอการเกิดริ้วรอยก่อนวัยอันควร

ส่วนแหล่งที่มาของไฮยาลูรอนที่ร่างกายไม่ได้สร้างเอง นักวิจัยชาวญี่ปุ่นได้เริ่มสกัดไฮยาลูรอนจากหงอนไก่และจดสิทธิบัตรใช้ในอุตาสาหกรรมเชิงพาณิชย์เมื่อปี 1942 ซึ่ง FDA หรือองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติว่าเป็นสารที่มีความปลอดภัย สามารถใช้ได้อย่างกว้างขวาง ปัจจุบันมีการสกัดสารไฮยาลูรอนจากสัตว์ จากแบคทีเรียด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ จากร่างกายของผู้ที่ต้องการรับการรักษาด้วยไฮยาลูรอนเอง หรือจากคนอื่นๆ

ไฮยาลูรอนมีประโยชน์อย่างไร?

1. ลดอาการผิวหนังอักเสบ

ไฮยาลูรอนในร่างกายจะมีความเข้มข้นสูงขึ้นเมื่อเกิดบาดแผล โดยจะช่วยลดความรุนแรงของการอักเสบ และส่งสัญญาณให้ร่างกายสร้างหลอดเลือดบริเวณแผล การทาไฮยาลูรอนลงบนบาดแผลจะช่วยลดอาการอักเสบได้มากขึ้น

2. ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น

ไฮยาลูรอนให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ทำให้ผิวไม่แห้งแตกเป็นขุย ไม่แห้งกร้านและเหี่ยวย่น มีความเต่งตึง เรียบเนียน ชะลอการเกิดริ้วรอยได้ดี

3. รักษาและบรรเทาโรคข้อเสื่อม

ไฮยาลูรอนมีหน้าที่หล่อลื่นและลดแรงเสียดสีบริเวณข้อต่อ แต่เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็สร้างได้น้อยลง เป็นเหตุให้กระดูกข้อต่อเกิดการเสียดสีกันจนเกิดอาการปวด ซึ่งถ้ารับประทานอาหารเสริมที่มีไฮยาลูรอนก็จะมีอาการดีขึ้น

4. บรรเทาอาการกรดไหลย้อน

การรับประทานอาหารเสริมที่ส่วนผสมของไฮยาลูรอนร่วมกับคอนดรอยตินซัลเฟตและยาลดกรด จะช่วยลดอาการกรดไหลย้อนได้ถึง 60% เลยทีเดียว

5. บรรเทาอาการตาแห้ง

ไฮยาลูรอนเป็นสารที่มีอยู่ในน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาอยู่แล้ว ดังนั้นถ้ามีอาการตาแห้งจากการที่ร่างกายผลิตน้ำตาได้น้อยลงเพราะปัจจัยบางอย่าง การใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของไฮยาลูรอนก็จะช่วยลดอาการตาแห้งได้ดี

บริโภคไฮยาลูรอนอย่างไรให้ปลอดภัย?

1. การทาผลิตภัณฑ์บำรุงผิว

สกินแคร์หลายแบรนด์ได้นำไฮยาลูรอนมาเป็นส่วนผสมเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวและลดริ้วรอย  เช่น ในครีมบำรุงหน้า โลชั่นและเซรั่ม เพราะมีหน้าที่ช่วยฟื้นฟูผิวชั้นนอก โดยไฮยาลูรอนที่ใช้มักมีแหล่งที่มา และการสกัดที่แตกต่างกัน คุณภาพและราคาจึงแตกต่างกันไป

อย่างไรก็ตาม ไฮยาลูรอนมีอนุพันธ์ที่หลากหลาย ชื่อส่วนผสมที่ปรากฏบนผลิตภัณฑ์อาจไม่ใช่ Hyaluronic Acid เพียงอย่างเดียว อาจจะเป็นชื่อของสารประกอบเช่น Sodium Hyaluronate, Hydrolyzed Hyaluronic acid และ Sodium Acetyl Hyaluronate ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนกับไฮยาลูรอน

2. การรับประทานอาหารเสริม

การรับประทานอาหารเสริมที่ไฮยาลูรอน เหมาะสำหรับคนที่ผิวขาดน้ำ นั่นคือผิวแห้ง และผิวมัน หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมจึงรวมผิวมันด้วย เพราะว่าผิวที่ขาดน้ำจะมีการสร้างน้ำมันมาสร้างความชุ่มชื้นทำให้หน้ามันนั่นเอง วัยรุ่นที่ผิวขาดน้ำจึงสามารถรับประทานได้ด้วย ส่วนคนที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปก็จะช่วยให้ผิวมีความชุ่มชื้น และชะลอความเสื่อมสภาพของเซลล์

ข้อควรระวัง :

  • ควรรับประทานในปริมาณ 50-100 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น ห้ามรับประทานเกินปริมาณที่กำหนด

3. การฉีดไฮยาลูรอน

การใช้ไฮยาลูรอนเป็นสารเติมเต็มผิว หรือการฉีดฟิลเลอร์ (Filler Injection) นิยมใช้ฉีดเพื่อแก้ไขจุดบกพร่องบนใบหน้า เช่น ใต้ตา ร่องแก้ม เพื่อให้ใบหน้าดูสมบูรณ์ เต่งตึง ไม่มีริ้วรอย ฟิลเลอร์ไฮยาลูรอนสามารถอยู่ได้นาน 6-12 เดือน โดยสารเติมเต็มไฮยาลูรอนได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงมีความปลอดภัยสูงหากได้รับเข้าร่างกายในปริมาณที่เหมาะสม

ข้อควรระวัง :

  • การฉีดฟิลเลอร์ด้วยไฮยาลูรอนต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  • สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรไม่ควรฉีด เนื่องจากยังไม่มีผลการวิจัยถึงผลข้างเคียงที่ชัดเจน

ไฮยาลูรอน หรือ กรดไฮยาลูโรนิค (Hyaluronic Acid) เป็นสารที่มีประโยชน์หลายด้านโดยเฉพาะการนำมาใช้ในด้านความงาม อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการใช้เพื่อรักษาข้อเข่าเสื่อม หรือบรรเทาอาการอักเสบของผิว รวมไปถึงการรับประทานเป็นอาหารเสริมอย่างต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับคำแนะนำในการบริโภคที่ถูกต้องและเหมาะสมกับร่างกายของเราที่สุด