อาหารหลัก 5 หมู่!…กินอย่างไรให้ได้ประโยชน์จากสารอาหารครบถ้วน?

940
อาหารหลัก 5 หมู่

เราทุกคนคงเคยได้ยินกันมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าต้องรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรง และถ้ากินอาหารไม่ครบหรือขาดหมู่ใดหมู่หนึ่งไปก็จะทำให้การทำงานของร่างกายมีความบกพร่อง ไปดูกันดีกว่าว่าอาหารหลัก 5 หมู่ในแต่ละหมู่มีอะไรบ้างและให้ประโยชน์กับร่างกายในด้านไหน รวมทั้งปริมาณที่ร่างกายต่อวันนั้นเท่าไหร่

อาหารหลัก 5 หมู่คืออะไร?

อาหารหลัก 5 หมู่ คือ กลุ่มอาหารทั้ง 5 ที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป กระบวนการทำงานต่างๆ ของร่างกาย เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบขับถ่าย ระบบประสาทและสมอง ก็จะมีความบกพร่อง โดยปริมาณอาหารทั้ง 5 หมู่ที่ร่างกายต้องการนั้นก็มีความมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเพศ อายุ และสุขภาพของแต่ละคน

ถ้าได้รับอาหารในปริมาณที่เหมาะสมเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ร่างกายก็สามารถดูดซึมสารอาหารที่จำเป็นมาใช้งานได้อย่างครบถ้วน ทำให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ ลงได้

อาหารหลัก 5 หมู่ประกอบด้วยอะไรบ้าง?

อาหารหลักหมู่ที่ 1 : โปรตีน

โปรตีนเป็นอาหารหมู่ที่ 1 ประกอบด้วย เนื้อ นม ไข่ และถั่วต่างๆ โดยเป็นโครงสร้างของร่างกาย และเป็นส่วนส่วนประกอบของอวัยวะ เซลล์และเม็ดเลือดขาว จึงช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ช่วยรักษาสมดุลน้ำเนื่องจากโปรตีนในเซลล์และหลอดเลือดจะรักษาปริมาณน้ำในเซลล์และหลอดเลือดให้มีความเหมาะสม รวมทั้งกรดอะมิโนของโปรตีนจะช่วยรักษาสมดุลกรดด่างภายในร่างกายได้ดีด้วย

ปริมาณที่ต้องการต่อวัน : ไม่น้อยกว่า 50 กรัม

อาหารหลักหมู่ที่ 2 : คาร์โบไฮเดรต

คาร์โบไฮเดรตเป็นอาหารหมู่ที่ 2 ประกอบไปด้วย ข้าว น้ำตาล แป้ง มัน และเผือก เป็นต้น เป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานหลักของร่างกาย ใช้ในการขับเคลื่อนอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง หัวใจ ระบบการหายใจ และยังทำให้ร่างกายอบอุ่นอีกด้วย พลังงานที่ได้จากคาร์โบไฮเดรตมักหมดไปวันต่อวันจากการทำกิจกรรม เช่น การเดิน ทำงาน การออกกำลังกาย เป็นต้น ถ้าร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตเกินความต้องการจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันเก็บไว้ในร่างกาย อาจทำให้เกิดโรคอ้วนได้

ปริมาณที่ต้องการต่อวัน : ข้าว 8-12 ทัพพี

อาหารหลักหมู่ที่ 3 : แร่ธาตุ

แร่ธาตุเป็นอาหารหมู่ที่ 3 ประกอบไปด้วยพืชผักและผลไม้ที่รับประทานได้โดยไม่เป็นอันตราย ทั้งผักใบเขียว ผลไม้สีแดง ผลไม้ตระกูลส้ม โดยให้ทั้งแร่ธาตุ วิตามิน และกากใยอาหาร ทำให้กระบวนการการทำงานของร่างกายเป็นไปอย่างปกติ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายแข็งแรง และมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอความเสื่อมสภาพของร่างกายโดยเฉพาะชะลอริ้วรอยของผิวหนัง ส่วนใยอาหารช่วยในด้านระบบย่อยอาหารและขับถ่าย ทำให้ขับถ่ายได้เป็นปกติ

ปริมาณที่ต้องการต่อวัน :

  • ผักผลไม้รวมกันแล้ว 5 ส่วน โดยผัก 1 ส่วน เท่ากับผักสุก 1 ทัพพี
  • ถ้าเป็นผักดิบจะเท่ากับ 2 ทัพพี
  • ถ้าดื่มเป็นน้ำผลไม้ น้ำผลไม้ 1 แก้วจะเท่ากับผักผลไม้ 1 ส่วน แต่จะไม่ได้เส้นใยอาหาร

บทความแนะนำ …

ส้ม

อาหารหลักหมู่ที่ 4 : วิตามิน

วิตามินเป็นอาหารหมู่ที่ 4 ประกอบไปด้วยผลไม้ต่างๆ เช่น กล้วย ส้ม มะละกอ แอปเปิ้ล ฝรั่ง อะโวคาโด แตงโม เพราะอุดมไปด้วยวิตามิน และแร่ธาตุ ทั้งยังมีคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย รวมถึงมีเส้นใยอาหารสูง จึงช่วยแก้อาการท้องผูก และกระตุ้นระบบขับถ่ายได้ดี

ปริมาณที่ต้องการต่อวัน : 3-5 ส่วน โดยเทียบปริมาณผลไม้ 1 ส่วนได้ดังนี้

  • ส้มเขียวหวานผลกลาง 2 ผล
  • ชมพู่ผลใหญ่ 2 ผล
  • ฝรั่งผลกลาง ½ ผล
  • เงาะ 4 ผล
  • มะม่วงดิบ ½ ผล
  • กล้วยน้ำว้า 1 ผล
  • มะละมอ, สัปปะรด หรือแตงโม 6-8 ชิ้น พอดีคำ
  • ลองกอง, ลำไย หรือองุ่น 6-8 ผล

บทความแนะนำ …

อาหารหลักหมู่ที่ 5 : ไขมัน

ไขมันเป็นอาหารหมู่ที่ 5 ประกอบด้วยไขมันจากปลา เช่น ปลาทู ไขมันจากสัตว์ เช่น น้ำมันหมู และไขมันจากพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว เป็นต้น ไขมันจะช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย และเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ มีการเก็บไขมันสะสมไว้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเพื่อใช้งานในยามจำเป็น เช่น สะโพก ต้นขา ซึ่งจะให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายด้วย

ปริมาณที่ต้องการต่อวัน : ไม่เกิน 4 ช้อนชา

การกินอาหารครบ 5 หมู่จะทำให้ร่างกายแข็งแรง ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและอาการเจ็บป่วย ทั้งยังช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง อารมณ์ดีไม่หงุดหงิดง่าย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคนด้วยว่าต้องการอาหารแต่ละหมู่ในปริมาณมากน้อยแค่ไหน เช่น สตรีมีครรภ์ก็มีความต้องการที่แตกต่างกับคนทั่วไปนั่นเอง

บทความแนะนำ ...