เส้นผมก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่มีผลต่อหน้าตาและบุคลิกของเรา ถ้าเส้นผมสลวยเงางาม ก็จะทำให้หน้าตาดูดี ทำทรงอะไรก็สวยงาม และเสริมบุคลิกให้ดูเป็นคนสะอาดสะอ้าน สุขภาพดี เอาใจใส่ดูแลตัวเอง แต่ทั้งนี้การบำรุงผมด้วยครีมนวดผมหรือทรีทเมนต์อาจไม่พอ เพราะปัญหาผมบางอย่างก็มาจากปัจจัยภายในร่างกาย ดังนั้นต้องเลือกรับประทานอาหารบำรุงผม และหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำร้ายเส้นผม ไปดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง

ปัญหาเส้นผมจากการรับประทานอาหาร
1. อาหารที่มีไขมันสูง
อาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันสัตว์จะเพิ่มฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) และอาหารมันอย่าง เนย กะทิ อาหารทอด จะทำให้หนังศีรษะผลิตน้ำมันส่วนเกินออกมา ทำให้ผมมัน หลุดร่วงง่าย
2. ผงชูรส
ผงชูรสหรือ โมโนโซเดียม กลูตาเมต ขัดขวางการดูดซึมวิตามิน โดยเฉพาะวิตามิบี 6 ที่ช่วยบำรุงรากผมแข็งแรง ทำให้เส้นผมยาวช้า
3. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
แอลกอฮอล์ทำให้เส้นเลือดหดตัว สารอาหารจึงไปหล่อเลี้ยงรากผมได้ไม่เพียงพอ ทำให้ผมไม่แข็งแรง และเสื่อมสภาพเร็วขึ้น
4. อาหารที่ผ่านการขัดขาว
อาหารขัดขาว เช่น ข้าวขาว แป้งขัดขาว ขนมปังขาว น้ำตาลทรายขาว นั้นมีวิตามินน้อย ถ้ารับประทานมากๆ อาจทำให้ได้รับวิตามินที่จำเป็นต่อเส้นผมไม่เพียงพอ

วิธีการรับประทานอาหารสำหรับผู้ที่มีปัญหาเส้นผมต่างๆ
1. แก้ปัญหาผมบาง ขาดหลุดร่วง
โดยปกติแล้วเส้นผมคนเราจะร่วงตามธรรมชาติ 50-100 เส้นต่อวัน แต่ถ้าหลุดร่วงมากกว่าปกติ หรือต้องการเร่งให้ผมขึ้นใหม่ ต้องรับประทานอาหารที่มีโปรตีนอย่างเพียงพอ เช่น เนื้อไก่ ถั่ว ควินัว สาหร่าย หรืออาหารที่มี Zinc สูงอย่างหอยนางรม
2. แก้ปัญหาผมขาดง่าย
ผมขาดง่ายเป็นเพราะได้รับวิตามินไม่เพียงพอ โดยอาหารที่ควรรับประทานคืออาหารที่มีวิตามินซีสูง อย่าง สตรอเบอร์รี่ ส้ม หรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวอื่นๆ รวมถึงอาหารที่มีวิตามินบี 5 อย่างตับ เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา และเมล็ดธัญพืช
3. แก้ปัญหาผมแบนและแห้ง
ผมแบนและแห้งต้องบำรุงด้วยการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น เนื้อแดง เต้าหู้ เพราะจะช่วยในระบบหมุนเวียนโลหิต ทำให้สามารถนำสารอาหารและออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงรากผมได้มากขึ้น
4. ยับยั้งผมหงอก
คนที่มีผมหงอกขึ้นเร็วก่อนวัยอันควร ให้รับประทานอาหารจำพวกเห็ด เพราะเต็มไปด้วยทองแดงที่ช่วยยืดอายุสีผมให้กลายเป็นผมหงอกช้าลง หรือจะรับประทานดาร์กช็อกโกแล็ตที่มีเมลานินมาก ก็ช่วยในการสร้างเม็ดสีในเส้นผมได้เช่นกัน
5. แก้ปัญหารังแค
ถ้าหนังศีรษะมีรังแค ต้องรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสังกะสี (Zinc) อย่างเมล็ดฟักทอง ซีเรียล เนื้อหมู โยเกิร์ต และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ รวมถึงอาหารที่มีไบโอติน (Biotin) ที่ช่วยให้ผมแข็งแรงและลดการเกิดรังแค ซึ่งพบมากในถั่ว เช่น ถั่วแขก ถั่วพู ถั่วฝักยาว หรือถั่วที่รับประทานเฉพาะเมล็ด เช่น ถั่วเหลือง ถั่วปากอ้า
นอกจากอาหารบำรุงผมที่ช่วยทำให้เส้นผมแข็งแรงแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการทำผม อย่างการยืด ดัด ทำสี บ่อยจนเกินไป เพราะเคมีและความร้อนเป็นตัวการในการทำร้ายผมอย่างมาก ทั้งนี้ควรออกกำลังกายและนอนพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายนำสารอาหารไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ