ประโยชน์ของชาต่างๆ เช่น ชาเขียว ชาดำ ชาขาว…ดื่มอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ?

2642
ประโยชน์ของชาต่างๆ

ชา (Tea) เป็นเครื่องดื่มที่มายาวนาน ช่วยดับกระหาย กระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว และยังมีสรรพคุณในการบำรุงร่างกายหลายด้าน ทำให้ชาเป็นเครื่องดื่มที่นิยมและแพร่หลายมาก การดื่มชาเป็นวัฒนธรรมในหลายๆ ประเทศ ชามีหลายชนิดขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาและกระบวนการผลิต เช่น ชาเขียว ชาดำ ชาขาว ชาอุ่หลง ซึ่งชาแต่ละชนิดก็มีประโยชน์ที่แตกต่างกัน

ประโยชน์ของชาชนิดต่างๆ

1. ชาเขียว (Green Tea)

ชาเขียวไม่ผ่านกระบวนการหมัก แต่ผ่านการอบไอน้ำหรือคั่วในกระทะ ก่อนจะนำมากลิ้งให้แห้ง ทำให้ใบชามีสีเขียว คงประโยชน์อยู่มาก นอกจากดื่มเพื่อดับกระหายและแก้ร้อนในแล้ว สาร Epigallocatechin Gallate (EGCG) ในชาเขียวจะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ไม่แก่ก่อนวัย รวมถึงช่วยลดระดับคลอเรสเตอรอลในเลือด ป้องกันการจับตัวของลิ่มเลือด

2. ชาดำ (Black Tea) หรือ ชาแดง (Red Tea)

ชาดำ หรือ ชาแดง ที่มาของใบชาคือเดียวกันกับชาเขียว แต่ผ่านกระบวนการหมักแบบแบคทีเรียเหมือนการเพาะบ่มไวน์ ก่อนจะนำไปคั่วและกลิ้งจนได้ใบชาสีเข้ม กลิ่นหอม รสขมเล็กน้อย ชาชนิดนี้มีสารพอลิฟีนอล (Pholyphenol) ชนิด OTPP ที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ย่อยไขมัน ทำให้ร่างกายต้องเพิ่มอัตราการเผาผลาญไขมันเพิ่มขึ้น จึงช่วยลดความอ้วนได้ และลดคลอเรสเตอรอลได้ดี กระตุ้นการทำงานของสมอง ลดความตึงเครียดและอารมณ์หงุดหงิด

3. ชาขาว (White Tea)

ชาขาวทำมาจากยอดอ่อนใบชา มีกระบวนการผลิตน้อยที่สุด ไม่ผ่านการหมักหรือการทำปฏิกิริยากับออกซิเจน แต่จะรีบนำไปอบให้เร็วที่สุด ชาขาวมีสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ชนิดคาเทชิน (Catechin) วิตามินซี และวิตามินอี จึงมีประโยชน์มาก ช่วยบำรุงผิวพรรณ ทำให้เปล่งปลั่ง ชะลอการเกิดริ้วรอย และกระตุ้นให้ต่อมน้ำเหลืองขจัดสารพิษจากผิว

4. ชาอู่หลง (Oolong Tea)

ชาอุ่หลงผ่านกระบวนการหมักแบบออกซิเดชั่น มีสารพอลิฟีนอล (Pholyphenol) คล้ายกับชาดำ จึงช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญของไขมัน ลดคลอเรสเตอรอล และสารโพลีฟีนอลยังช่วยต้านอนมูลอิสระ ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง อ่อนวัย ทั้งนี้ยังมีคุณสมบัติยับยั้งแบคทีเรียในช่องปาก ทำให้ชาอู่หลงป้องกันฟันผุได้ด้วย

การดื่มชาให้ได้ประโยชน์

1. ดื่มชาที่เพิ่งชงเสร็จใหม่ๆ

หลังจากชงแล้วไม่ควรปล่อยไว้เกิน 2 ชั่วโมง เพราะชาจะมีรสฝาด และส่งผลเสียต่อการทำงานของกระเพาะอาหารด้วย

2. ดื่มชาหลังรับประทานอาหาร

การดื่มชาหลังกินอาหาร จะช่วยกระตุ้นการย่อยอาหาร โดยชาที่ดื่มต้องเป็นชาอ่อนๆ เพื่อไม่ให้กระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารออกมามากเกินไป ถ้าจะดื่มชาแก่ควรดื่มหลังกินอาหาร 2-3 ชั่วโมง เพราะจะช่วยกระตุ้นการย่อยมากขึ้น

ข้อควรระวังในการดื่มชา

  • ไม่ควรดื่มชาก่อนเข้านอน เพราะชามีคาเฟอีนที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท อาจทำให้นอนไม่หลับได้
  • ผู้ที่เป็นโรความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจไม่ควรดื่มชา เนื่องจากในชามีคาเฟอีนที่กระตุ้นประสาท ทำให้หัวใจเต้นเร็ว
  • ผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรดื่มชา เนื่องจากชามีคาเฟอีนที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
  • ผู้ป่วยมีไข้ไม่ควรดื่มชา เพราะจะทำให้หัวใจเต้นเร็วและตัวร้อนมากขึ้น
  • การดื่มชาจะทำให้ไตทำงานหนักขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตไม่ควรดื่มชามากเกินไป
  • ชามีฤทธิ์ช่วยเพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ดังนั้นผู้ที่ป่วยเป็นโรคกระเพาะไม่ควรดื่มชา
  • สตรีมีครรภ์ สตรีที่รับประทานยาคุม และแม่ลูกอ่อนที่ยังให้นมลูกไม่ควรดื่มชา
  • เด็กเล็กไม่ควรดื่มชา เพราะจะทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ไม่เต็มที่

ในปัจจุบันการดื่มชามีหลายรูปแบบ จากที่ดื่มชาร้อนก็มีการดื่มชาแบบเย็น มีการผสมวัตถุดิบต่างๆ เช่น นม น้ำผึ้ง ลงไปเพื่อให้รสชาติดีขึ้น สามารถเลือกดื่มได้ตามใจชอบ แต่ถ้าต้องการดื่มชาเพื่อสุขภาพ ควรดื่มชาร้อนแบบไม่ผสมอย่างอื่นลงไปจะได้ประโยชน์มากที่สุด