โรคกระเพาะ (Gastritis)…เกิดจากสาเหตุอะไร มีวิธีรักษาอย่างไร?

219
ท้องเสีย อุจจาระร่วง (Diarrhea)

ใครที่มีอาการปวดท้องบ่อย ๆ ปวดท้องเป็น ๆ หาย ๆ และมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดี เช่น รับประทานแต่อาหารรสจัด รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นโรคกระเพาะ ทั้งนี้อาการปวดท้องอาจมีสาเหตุจากโรคอย่างอื่น เพราะฉะนั้นไปดูอาการ สาเหตุ และวิธีการรักษาของโรคกระเพาะกันดีกว่า

โรคกระเพาะ คืออะไร?

โรคอุจจาระร่วง ท้องเสีย

โรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) คือ โรคที่มีอาการปวดท้องเนื่องจากเกิดกรดเกินหรือเกิดแผลที่เยื่อบุในกระเพาะอาหาร มักเกิดขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็ว และมักเป็น ๆ หาย ๆ ถ้าเกิดอาการเป็นระยะเวลานานจนอักเสบเรื้อรัง ก็อาจเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้

อาการของโรคกระเพาะ

อาการของโรคกระเพาะ
  1. ปวดท้องช่วงบนบริเวณใต้ลิ้นปี่เวลาที่หิว หรือหลังจากรับประทานอาหารประมาณ 1-3 ชั่วโมง โดยเฉพาะอาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
  2. ปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ เช่น ปวดอยู่ทุกวันเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์แล้วหายไปเป็นเดือน ก่อนจะมีอาการกลับมาอีก เป็นอย่างนี้เป็นปี
  3. ปวดท้องกลางดึกทั้งที่หลับไปแล้ว
  4. ปวดท้องเมื่อกินยาบางชนิด คือ ยาแอสไพริน ยาแก้ปวดข้อ
  5. ปวดท้องเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ และรับประทานของทอด ของมัน ขนมหวาน

โดยปกติอาการปวดท้องแต่ละครั้งจะค่อย ๆ หายเอง แต่ถ้ามีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด มีสีผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

สาเหตุของโรคกระเพาะ

สาเหตุโรคกระเพาะ

กลุ่มโรคกระเพาะชนิดมีแผล

กลุ่มนี้จะมีแผลที่เยื่อบุกระเพาะอาหาร รวมถึงลำไส้เล็กส่วนตัว มีสาเหตุดังนี้

  • การใช้ยาแก้อักเสบบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน อินโดเมทาซิน นาโพรเซน ไพร็อกซิแคม ไดโคลฟีแนก เป็นต้น
  • ติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacterpylori  หรือชื่อย่อว่า H. pylori (เอชไพโลไร) โดยเป็นเชื้อที่สามารถติดต่อได้ผ่านการรับประทานอาหารที่มีเชื้อ และเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของโรคกระเพาะอาหารอีกด้วย

กลุ่มโรคกระเพาะชนิดไม่มีแผล

กลุ่มนี้จะมีอาการระคายเคืองที่เยื่อบุกระเพาะอาหารจนเกิดการอักเสบเรื้อรัง แล้วอาจกลายเป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนตัว มีสาเหตุดังนี้

  • การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา หรืออดอาหารบางมื้อ
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน อย่างเช่น เหล้า เบียร์ กาแฟ
  • การสูบบุหรี่
  • การรับประทานอาหารรสจัด
  • ภาวะกรดไหลย้อน

วิธีการรักษาโรคกระเพาะ

วิธีรักษาโรคกระเพาะ
  1. ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคกระเพาะชนิดมีแผล แพทย์จะให้รับประทานยาลดกรด หรือยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร หรือยากำจัดเชื้อแบคทีเรีย กรณีที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลา 4-8 สัปดาห์
  2. ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคกระเพาะชนิดไม่มีแผล จะได้รับการแนะนำให้ปรับพฤติกรรมและหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นสาเหตุของโรค คือ การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา รับประทานอาหารที่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร เช่น ของทอด ของมัน เหล้า เบียร์ และกาแฟ
  3. รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวขาว ก๋วยเตี๋ยว ไข่ เต้าหู้ ปลา ฟักทอง แครอท รวมถึงผลไม้ต่าง ๆ เช่น กล้วย แตงโม

โรคกระเพาะเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็เป็นโรคที่กลับมาเป็นซ้ำได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อรักษาหายแล้วไม่อยากกลับมาเป็นอีก ต้องควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหารของตนเองให้ดี เพื่อไม่ให้อาการปวดท้องแบบโรคกระเพาะกลับมาถามหาอีกครั้ง