หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท…มีอาการแบบไหน รักษาได้อย่างไร?

313
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Herniated Disk)

ใครที่มีปัญหาปวดหลังปวดเอว และมีอาการปวดจี๊ดหรือร้าว แถมยังเป็น ๆ หาย ๆ คงต้องสำรวจตัวเองเสียหน่อยว่าอาการนี้มีสาเหตุมาจากอะไร ไม่ว่าจะสุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวัน หรืออายุ เพราะอาการแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของโรคออฟฟิศซินโดรม แต่ขณะเดียวกันก็อาจเป็นโรคที่ร้ายแรงกว่านั้น นั่นก็คือ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทคืออะไร?

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท คือ โรคที่เกิดจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง โดยกระดูกสันหลังคือกระดูกจำนวน 24 ข้อ ระหว่างข้อมีเนื้อเยื่อเชื่อมแต่ละข้อ มีลักษณะเป็นวงกลม ขอบเป็นพังผืด และประสานกันด้วยเส้นใย ภายในมีของเหลวคล้ายเจลลี่ ทำให้มีความยืดหยุ่น และคอยรองรับแรงกระแทก เวลาเดิน กระโดด หรือเคลื่อนไหว จึงเรียกส่วนนี้ว่า “หมอนรองกระดูกสันหลัง”

เมื่ออายุมากขึ้น หมอนรองกระดูกสันหลังจะเสื่อมลง ทำให้เกิดการฉีกขาดของหมอนรองกระดูกได้ง่าย และของเหลวภายในออกมากดทับเส้นประสาท โดยการฉีกขาดอาจเกิดจากการยกของหนัก อุบัติเหตุ หรือน้ำหนักตัวที่มากเกินไปก็ได้ และเมื่อของเหลวออกมาทับเส้นประสาท ก็จะทำให้เกิดอาการปวดร้าวบริเวณหลัง เอว อาจลามไปจนถึงต้นขา ไล่ไปถึงปลายเท้าและนิ้วเท้าได้

อาการของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
  1. ปวดช่วงคอ หลัง เอว โดยอาการปวดจะปวดจี๊ดเหมือนไฟฟ้าช็อต เป็น ๆ หาย ๆ มากกว่า 2 สัปดาห์ บางครั้งอาจปวดร้าวไปถึงต้นขาและเท้าได้
  2. บริเวณที่ปวด อาจมีอาการตึงและชาเนื่องจากเส้นประสาทถูกกดทับ
  3. รู้สึกอ่อนแรงในบริเวณที่ปวด ขยับลำบาก
  4. มีอาการสั่นเวลาเดิน
  5. กรณีที่อาการรุนแรง จะรู้สึกชาที่บริเวณรอบอวัยวะเพศและทวารหนัก ทำให้ปัสสาวะ อุจจาระลำบาก

สาเหตุของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

สาเหตุหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
  1. อายุที่มากขึ้น ทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อม ฉีกขาดได้ง่าย
  2. การยกของหนัก การเล่นกีฬาผิดท่า
  3. การเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวันที่ผิดสุขลักษณะ ไม่ว่าจะเดิน ยืน นั่ง หรือนอน เช่ นการนอนคว่ำอ่านหนังสือทำให้กระดูกสันหลังแอ่นกว่าปกติ หรืออิริยาบถอื่น ๆ ที่ทำให้กระดูกสันหลังบิดงอ
  4. ผุ้ที่จำเป็นต้องทำงานอยู่หน้าคอมเป็นเวลานานเป็นประจำ โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศ
  5. การกระแทกอย่างรุนแรง เช่น อุบัติเหตุรถชน
  6. บางคนอาจมีปัจจัยมาจากปัญหากระดูกสันหลังคด หรือโครงสร้างกระดูกสันหลังผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด
  7. ไม่ออกกำลังกาย ทำให้กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ลีบ ส่งผลให้หมอนรองกระดูกเสื่อมได้เร็วขึ้น
  8. น้ำหนักตัวมากเกินไป ทำให้หมอนรองกระดูกต้องรับน้ำหนักมาก เสื่อมสภาพเร็ว
  9. การสูบบุหรี่จัด เพราะสารในบุหรี่จะทำให้ระบบหมุนเวียนเลือดทำงานไม่ดี ส่งผลให้ออกซิเจนที่ส่งไปเลี้ยงหมอนรองกระดูกมีปริมาณน้อยลง จึงเป็นสาเหตุให้หมอนรองกระดูกเสื่อมได้ง่าย
  10. การแต่งกายก็ส่งผลให้หมอนรองกระดูกเสื่อมได้ เช่น การสะพายกระเป๋าที่มีน้ำหนักมากโดยเฉพาะการสะพายเพียงข้างเดียว การสวมรองเท้าส้นสูงเพราะทำให้แนวกระดูกสันหลังผิดปกติ

วิธีการรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

วิธีรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
  1. การทำกายภาพบำบัด ในกรณีที่ยังมีอาการไม่มาก
  2. การฉีดยาประเภทสเตียรอยด์เข้าไปตำแหน่งใกล้เส้นประสาทที่เป็นสาเหตุของอาการปวด แต่ยาสเตียรอยด์ก็มีข้อเสียอยู่มาก สามารถใช้ได้กับผู้ที่มีอาการไม่มาก เพราะช่วยลดอาการอักเสบเท่านั้น
  3. ใช้คลื่นวิทยุ (Radio Frequency) หรือเลเซอร์ส่งผ่านพลังงานความร้อนเข้าไปในกระดูกสันหลัง เพื่อลดแรงกดจากหมอนรองประดูกต่อเส้นประสาท มักใช้ได้ในผู้ป่วยอายุน้อย และมีอาการไม่มาก
  4. การผ่าตัดเล็กผ่านกล้อง Endoscopic Discectomy เพื่อตัดหมอนรองกระดูกที่ทับเส้นประสาทในกรณีที่หมอนรองกระดูกไม่แตก หรือแตกแต่ยังไม่เคลื่อนไปไกล

ใครที่รู้ตัวว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะนำไปสู่โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ควรรีบปรับพฤติกรรมตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเริ่มจากจุดเล็ก ๆ อย่างปรับเปลี่ยนท่าที่ใช้นั่งทำงาน ลดการสะพายของหนักและการใส่ส้นสูงบ่อย ๆ เพราะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมีวิธีการรักษาก็จริง แต่อาจใช้เวลาพักฟื้นนาน และมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูง