เมารถ เมาเรือ (Motion Sickness)…เกิดจากอะไร แก้อาการได้อย่างไร?

267
เมารถ เมาเรือ (Motion Sickness)

คนที่เมารถ เมาเรือ คงไม่ชอบการเดินทางไปไหนนาน ๆ เพราะไม่อยากทนกับความทรมานระหว่างเดินทาง ไม่ว่าจะเวียนหัว คลื่นไส้อาเจียน จนอาจทำให้พลาดทริปสนุก ๆ ไปหลายทริป แต่ทุกปัญหาย่อมมีทางออก ไปดูกันดีกว่าสาเหตุของการเมารถ เมาเรือคืออะไร และจะแก้ได้อย่างไร

เมารถ เมาเรือคืออะไร?

อาการเมารถ เมาเรือ

อาการเมารถ เมาเรือ เกิดจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวตามการเคลื่อนไหวของศีรษะได้ เพราะเวลานั่งรถหรือเรือ สายตาจะเห็นภาพเคลื่อนที่ และศีรษะมีการเคลื่อนไหวไปตามระลอกคลื่นหรือถนนที่ขรุขระ ระบบประสาทด้านการทรงตัวจะได้รับแรงกระตุ้นมากเกินไป ทำให้ร่างกายไม่ชินและเกิดความไม่สมดุล สมองเกิดความมึนงง และส่งสัญญาณไปที่ระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้เวียนหัว เมารถ เมาเรือ ในทางแพทย์ถือว่าเป็นภาวะป่วยจากการเคลื่อนไหว (Motion Sickness)

ผู้ที่มีอาการเมารถ เมาเรือ จะมึนเวียนศีรษะ พะอืดพะอม คลื่นไส้อาเจียน บางครั้งตัวเย็นแต่เหงื่อออก หน้ามืดหรืออาจถึงขั้นเป็นลมได้

สาเหตุของอาการเมารถ เมาเรือ

สาเหตุอาการเมารถ เมาเรือ
  1. การนั่งรถ นั่งเรือ นั่งเครื่องบิน หรือการโดยสารบนยานพาหนะต่าง ๆ เพราะทำให้ศีรษะโคลงไปมาตามการเคลื่อนที่ ภาพก็เคลื่อนไหว แต่ตัวอยู่กับที่ และยิ่งมีผลมากถ้าพาหนะขับเคลื่อนด้วยความเร็วมาก
  2. การดูภาพเคลื่อนไหวใกล้ตาเกินไป เช่น ดูโทรทัศน์ใกล้หน้าจอมาก หรือดูภาพยนตร์ในโรงในแถวที่นั่งหน้าสุด
  3. การถ่ายเทอากาศที่ไม่ดี มีกลิ่นอับ กลิ่นควัน เพราะอากาศที่ถ่ายเทจะช่วยลดอาการเวียนหัวได้
  4. การนั่งในตำแหน่งท้ายรถ เพราะมองไม่เห็นภาพภายนอก ควรนั่งหน้ารถจะทำให้เกิดอาการเมารถเมาเรือได้น้อยกว่า

วิธีการแก้อาการเมารถ เมาเรือ

วิธีแก้อาการเมารถ เมาเรือ

1. สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ

ถ้ารู้สึกว่าเริ่มมีอาการเมารถ เมาเรือ ให้สูดหายใจเข้าลึก ๆ หรือพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท กลิ่นไม่อับ เพื่อลดอาการเวียนหัว

2. พยายามนั่งตัวตรง

การนั่งพิงกับเบาะหรือพิงกับผนัง ทำให้ร่างกายได้รับแรงสั่นสะเทือนเพิ่มมากขึ้น และยิ่งกระตุ้นให้อาการเมารถ เมาเรือแย่ลง

3. หลับตา

การหลับตาจะทำให้สมองไม่ต้องรับภาพเคลื่อนไหวที่ทำให้เกิดการสับสนระหว่างนั่งรถนั่งเรือ ช่วยบรรเทาอาการเมารถได้ดี

4. ดมยาดม

กลิ่นของยาดมมีสรรพคุณช่วยให้หายเวียนหัว และบรรเทาอาการเมารถ เมาเรือ ทั้งนี้สามารถนำเปลืองของส้ม และมะนาวมาดมแทนยาดมได้เช่นกัน

5. ดื่มน้ำขิง หรือแคปซูลขิง

ขิงมีส่วนช่วยลดการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ทำให้ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน เหมาะสำหรับคนที่เมารถเมาเรือแล้วมักจะคลื่นไส้อย่างมาก โดยสามารถดื่มเป็นน้ำขิง หรือรับประทานเป็นแคปซูลก่อนออกเดินทาง

6. กินยาแก้เมารถ

ยาแก้เมารถไดเมนไฮดริเนท (Dimenhydrinate) จะออกฤทธิ์ควบคุมการทรงตัวของหูชั้นใน เป็นยาสามัญประจำบ้าน จึงค่อนข้างปลอดภัยในการใช้

7. ติดพลาสเตอร์แก้เมารถ ที่หลังหู

การแปะพลาสเตอร์แก้เมารถ เมาเรือ หรือ ทรานสเดิร์ม สค็อป (Transderm Scop) ที่บรรจุตัวยาสโคโปลามีน (Scopolamine) ไว้ที่หลังหูก่อนออกเดินทาง 4 ชั่วโมง จะทำให้ตัวยาดูดซึมผ่านผิวหนัง ลดอาการเมารถ เมาเรือได้ดี

ผู้ที่มีอาการเมารถ เมาเรืออยู่เป็นประจำ เพียงหลีกเลี่ยงสาเหตุของการเกิดอาการ และปฏิบัติตามวิธีรักษาข้างต้น ก็จะช่วยให้อาการเมารถ เมาเรือบรรเทาลง และสนุกกับการเดินทางมากขึ้น ไม่ว่าจะทริปไหนก็ลุยได้ ไม่ต้องพลาดอีกต่อไป