เครื่อง AED…ตัวช่วยในการช่วยชีวิตผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

515
เครื่อง AED

การทำ CPR เป็นการปฐมพยาบาลพื้นฐานเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยที่หมดสติ หัวใจหยุดเต้น หรือเต้นผิดจังหวะ จากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น โรคหัวใจ หรืออุบัติเหตุอย่างสำลักควันไฟไหมจนหมดสติ จมน้ำ เป็นต้น แต่บางครั้งผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ก็ไม่มีความรู้ด้าน CPR หรือไม่เชี่ยวชาญในการทำ ทำให้ลดโอกาสรอดของผู้ป่วยลง เครื่อง AED จึงเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาที่ดีอย่างหนึ่ง

เครื่อง AED คืออะไร?

เครื่อง AED ย่อมาจากคำว่า Automated External Defibrillator หรือเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ คือ เครื่องมือทางการแพทย์ที่เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก สามารถพกพาได้ ซึ่งปัจจุบันสามารถพบตามที่สาธารณะที่มีผู้คนพลุกพล่าน เช่น สถานีรถไฟ ห้างสรรพสินค้า มากขึ้น เพราะ AED เป็นเครื่องที่ใช้ช่วยเหลือผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะให้กลับสู่สภาวะปกติได้ ซึ่งเหตุการณ์ฉุกเฉินนี้อาจเกิดได้ทุกที่ทุกเวลา การมีเครื่อง AED ติดตั้งไว้ตามที่ต่างๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น เพราะตัวเครื่องก็ใช้งานง่าย มีคำแนะนำผ่านระบบเสียงและมีภาพประกอบบนจอ ผู้ที่ไม่เคยใช้งานมาก่อนก็สามารถใช้งานได้

ประโยชน์ของเครื่อง AED

  1. ผู้ปฐมพยาบาลที่ไม่มีความรู้ด้านการทำ CPR ก็สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจหยุดเต้นได้ทันท่วงที เพราะมีคำแนะนำผ่านระบบเสียงพร้อมภาพประกอบบนจอ ทำให้ใช้งานง่าย
  2. ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น เพราะโดยปกติแล้วควรได้รับการช่วยเหลือภายใน 3 นาที การมีเครื่อง AED ที่ไม่ว่าใครก็ใช้งานได้ ทำให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น
  3. เครื่อง AED มีขนาดเล็ก ทำให้พกพาได้ง่าย และยังติดตั้งตามที่สาธารณะได้ง่าย โดยเฉพาะสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เช่น จุดประชาสัมพันธ์
  4. เครื่อง AED จะวินิจฉัยอัตราการเต้นของหัวใจ และใช้กระแสไฟฟ้ากระตุกหัวใจให้กลับมาเต้นในอัตราปกติ ทำให้การช่วยเหลือมีความแม่นยำมากขึ้น

วิธีการปฐมพยาบาลด้วยเครื่อง AED

  1. เปิดสวิตช์เครื่อง AED เลือกภาษาที่ต้องการ เครื่องจะให้คำแนะนำด้วยภาพและสียงตามขั้นตอน เริ่มต้นโดยการฉีกซองบรรจุอิเล็คโทรด นำชิ้นแรกติดบนทรวงอกตอนบนของผู้ป่วย ชิ้นที่สองติดบนทรวงอกตอนล่างของผู้ป่วย เครื่อง AED จะวินิจฉัยอาการและประเมินว่าสมควรได้รับการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าหรือไม่
  2. ถ้าต้องกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า เครื่องจะส่งสัญญาณให้ทำการกระตุ้น ขั้นตอนนี้ต้องออกห่างจากตัวผู้ป่วย ห้ามแตะต้องตัวเด็ดขาด แล้วจึงสามารถกดปุ่มกระตุ้นที่มีไฟกระพริบสีส้มเพื่อเริ่มการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า
  3. การทำ AED สามารถทำสลับกันไปกับ CPR ได้ แต่ต้องรอสัญญาณจากเครื่องว่าสามารถสัมผัสตัวผู้ป่วยได้หรือยัง ไม่งั้นอาจเกิดอันตรายขึ้นได้

ผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือโรคที่มีความเสี่ยงเกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ สามารถพกพาเครื่อง AED เพื่อเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือได้ตลอดเวลา เพราะมีขนาดเล็กกะทัดรัด อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ป่วยหมดสติ หัวใจหยุดเต้นเพราะอุบัติเหตุ การใช้เครื่อง AED ถือเป็นการปฐมพยาบาลขั้นต้น ต้องให้ทีมแพทย์เข้ามาตรวจร่างกายอย่างละเอียดอีกครั้งเพื่อความปลอดภัย