โรคไมเกรน (Migraines)…ปวดหัวแบบไหน รักษาได้อย่างไร?

314
โรคไมเกรน (Migraines)

โรคไมเกรน ป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกทรมานกับอาการปวดหัว รวมถึงอาการข้างเคียงอื่น ๆ จนส่งผลกระทบต่อการทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นผู้ป่วยควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการ สาเหตุของการเกิดโรค เพื่อหาวิธีรักษาและบรรเทาอาการปวดไมเกรนให้ดีขึ้น

โรคไมเกรนคืออะไร?

โรคไมเกรน ปวดหัว

โรคไมเกรน (Migraines) เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าเป็นโรคที่มีอาการปวดหัวข้างเดียว และจะปวดอย่างรุนแรง ลักษณะของการปวดจะปวดแบบตุบ ๆ คล้ายเส้นเลือดเต้นที่ด้านข้างหรือด้านหน้าของศีรษะ และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้อาเจียน หรือไวต่อแสงและเสียงเพิ่มขึ้น อาการจะเกิดขึ้นประมาณ 4-72 ชั่วโมง การทำกิจกรรมทั่วไปสามารถทวีความปวดได้มากขึ้น หรืออาจปวดรุนแรงจนมีผลกระทบทำให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ได้ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมักพบในช่วงอายุ 22-55 ปี

อาการของโรคไมเกรน

อาการโรคไมเกรน

อาการของไมเกรนแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ดั้งนี้

  1. ไมเกรนที่ไม่เห็นแสงวูบวาบ หรือไมเกรนที่ไม่มีอาการเตือน (Migraine without  Aura) กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่พบมาก ผู้ป่วยจะปวดศีรษะไมเกรนโดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า
  2. ไมเกรนที่เห็นแสงวูบวาบ หรือไมเกรนที่มีอาการเตือน (Migraine with Aura) ผู้ป่วยจะมีการมองเห็นผิดปกติก่อนปวดหัวไมเกรน เช่น เห็นแสงวูบวาบ เห็นแสงซิกแซ็ก มีสีหรือไม่มีสี หรือภาพมืดไปบางส่วน เห็นภาพไม่ชัด หรือภาพบิดเบี้ยว และอาจมีอาการเตือนอื่น ๆ เช่น แขนหรือมือชา ชารอบปาก นึกชื่อไม่ออก พูดไม่ได้ ร่างกายซีกหนึ่งอ่อนแรง เป็นต้น

สาเหตุของโรคไมเกรน

สาเหตุโรคไมเกรน

โรคไมเกรนเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจากตัวเราเองและสิ่งแวดล้อม

1. ฮอร์โมน

สาเหตุที่โรคไมเกรนพบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายอยู่ตลอด โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโทรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงและเกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน ทำให้เกิดอาการปวดไมเกรนในช่วงมีประจำเดือน (Menstrual Migraine) ซึ่งมักเกิดขึ้น 2 วันก่อนมีประจำเดือน จนถึงวันที่ 3 ของการมีประจำเดือน แต่ในผู้หญิงบางคนก็พบอาการไมเกรนในวัยหมดประจำเดือน (Menopause) ที่มีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนของร่างกาย และกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้

2. ความเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์

อารมณ์ที่ทำให้เกิดอาการไมเกรน คือ ความเครียด วิตกกังวล อาการตกใจ ช็อก ความตื่นเต้น ไปจนถึงภาวะซึมเศร้า

3. ความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย

การทำงานหนัก ออกกำลังกายหรือใช้พลังงานมากจนเกิดความอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หรือนอนหลับไม่เพียงพอ รวมถึงอ่อนเพลียเพราะการเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นเวลานาน (Jet Lag) และภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อย (Hypoglycaemia)

4. พฤติกรรมการรับประทานอาหาร

การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลามีส่วนทำให้อาการไมเกรนกำเริบ และลักษณะอาหารที่รับประทานก็เช่นกัน โดยเฉพาะอาหารที่มีคาเฟอีน อย่างชา กาแฟ หรือช็อกโกแล็ต ผลไม้ตระกูลส้ม เนยแข็ง ชีส ไปจนถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

5. การใช้ยารักษาโรค

การใช้ยานอนหลับบางชนิด การใช้ยาคุมกำเนิด และการใช้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy) ในสตรีวัยหมดประจำเดือน

6. สิ่งแวดล้อม

แสงสว่างจ้า ทั้งจากแสงแดด หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือจอโทรทัศน์ เสียงดัง กลิ่นบุหรี่หรือกลิ่นจากสิ่งที่มีกลิ่นรุนแรง อากาศที่เย็นจัด หรือการอยู่ในสภาพที่บรรยากาศอบอ้าว

วิธีการรักษาโรคไมเกรน

วิธีรักษาโรคไมเกรน

1. ระยะที่มีอาการปวดศีรษะ

หลังจากมีอาการปวดศีรษะ และเป็นอาการปวดที่ไม่รุนแรง สามารถใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการได้ เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยาแอสไพริน (Aspirin) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) แต่ยาเหล่านี้ไม่เคยรับประทานเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้

ขณะเดียวกันก็มียาที่เฉพาะเจาะจงกับอาการปวดไมเกรน คือ ยากลุ่มทริปแทน (triptan) ที่บรรเทาอาการปวดไมเกรน รวมถึงอาการที่เกี่ยวข้อง คือ อาการคลื่นไส้อาเจียน อาการไวต่อแสงและเสียง เป็นต้น มีทั้งยาเม็ด ยาฉีด และยาพ่นจมูก รวมไปถึงยาแก้อาการคลื่นไส้ (Anti-nausea Medications) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย

2. ระยะที่ไม่ปวดศีรษะ

การรับประทานยาในระยะนี้คือการป้องกันไม่ให้ปวดไมเกรน ได้แก่ กลุ่มยากันชัก เช่น Topiramate, Valproic Acid กลุ่มยาปิดกั้นตัวรับแคลเซียม เช่น Flunarizine, Cinnarizine, Verapamil และกลุ่มยาปิดกั้นตัวรับเบต้า เช่น Propanolol, Atenolol, Metoprolol

อาการปวดหัวไมเกรน ถ้าเป็นอย่างรุนแรงจะส่งผลให้ทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างไม่ได้ในระยะที่มีอาการปวด และอาจเสียโอกาสในการทำงานหลาย ๆ อย่างไป หากมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคไมเกรน ให้เข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย เพื่อหาแนวทางในการรักษาและบรรเทาอาการที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป