ท้องเสีย ท้องร่วง…สาเหตุและวิธีแก้โรคอุจจาระร่วง ถ่ายเหลว

195
ท้องเสีย อุจจาระร่วง (Diarrhea)

เข้าหน้าร้อนทีไร อาหารก็มัดจะบูดง่าย นอกจากนี้ยังอากาศที่ร้อนยังทำให้เชื้อโรคในอาหารเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคท้องเสีย ท้องร่วง กลายเป็นโรคยอดฮิตในหน้าร้อน แต่นอกจากสาเหตุนี้แล้ว โรคท้องเสียยังเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่นด้วย

โรคอุจจาระร่วง ท้องเสีย คืออะไร?

โรคอุจจาระร่วง ท้องเสีย

ท้องเสีย หรือ อุจจาระร่วง (Diarrhea) คือ โรคที่มีอาการถ่ายอุจจาระเหลว ถ่ายเป็นน้ำ มากกว่าปกติ บางครั้งมีมูกเลือดปะปนมาด้วย เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น แบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับกระเพาะลำไส้ เช่น โรคลำไส้อักเสบ โรคมะเร็งลำไส้ เป็นต้น มีทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง

อาการของโรคอุจจาระร่วง ท้องเสีย

อาการอุจจาระร่วง ท้องเสีย

อาการของโรคอุจจาระร่วงที่พบได้บ่อย มีดังนี้

  1. ถ่ายอุจจาระเหลว ถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไป อาจถ่ายเป็นมูกเลือดร่วมด้วย
  2. มีไข้ หนาวสั่น ครั่นเนื้อครั่นตัว
  3. ปวดท้อง คลื่นไส้
  4. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  5. เลือดจาง
  6. ตับและม้ามโต
  7. ในเด็กอาจมีอาการชักและซึม

อาการท้องเสียเป็นอาการที่สามารถบรรเทาลงได้เอง ยกเว้นกรณีต่อไปนี้ให้รีบพบแพทย์ เพราะมีความเสี่ยงว่าจะเกิดภาวะขาดน้ำ

  1. ไข้ขึ้นสูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส
  2. ท้องเสียติดต่อกันมากกว่า 2 วัน
  3. ปวดท้องอย่างรุนแรง
  4. สำหรับเด็กเล็กหากมีอาการเกิน 1 วันต้องรีบพบแพทย์ทันที

สาเหตุของโรคอุจจาระร่วง ท้องเสีย

สาเหตุโรคอุจจาระร่วง ท้องเสีย

สาเหตุของโรคอุจจาระร่วง แบ่งได้ 2 แบบ คือ แบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง

แบบเฉียบพลัน

1. การติดเชื้อแบคทีเรีย

เชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการท้องเสีย ได้แก่ เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ เชื้อซาลโมเนลลา, เชื้อชิเกลลา และเชื้ออีโคไล ซึ่งมักปนเปื้อนในน้ำหรืออาหาร พบได้บ่อยในฤดูร้อนเพราะมีอุณหภูมิที่พอเหมาะในการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย

2. การติดเชื้อไวรัส

ไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสีย ได้แก่ โรต้าไวรัส, โนโรไวรัส, ไซโตเมกาโลไวรัส, เฮอร์พีส์ซิมเพล็กซ์ไวรัส และไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น โดยไวรัสโรต้ามักก่อให้เกิดท้องเสียในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปีมากที่สุด

ผู้ป่วยมักมีไข้ต่ำ อุจจาระร่วงและอาเจียน บางคนมีอาการน้อยและหายได้เอง แต่ถ้าเป็นเกิน 2 วันควรพบแพทย์ ที่สำคัญอาการท้องร่วงท้องเสียที่เกิดจากเชื้อไวรัสสามารถติดต่อกันได้ จึงไม่ควรให้ผู้ป่วยคลุกคลีกับผู้อื่น

3. การได้รับเชื้อปรสิต

เชื้อปรสิตที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสีย ได้แก่ เชื้อไกอาเดีย, เชื้อแอนตามีบาฮิสโตลิติกาหรือเชื้อบิดอะมีบา และเชื้อคริปโตสปอริเดียม เป็นต้น สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ

4. อหิวาตกโรค

โรคนี้พบไม่บ่อย แต่ก็จะทำให้เกิดอาการท้องเสียรุนแรง เสียน้ำอย่างรวดเร็ว และอาจเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ เกิดจากการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด จึงควรทำอาหารให้สุกก่อนรับประทานทุกครั้ง เพราะเชื้ออหิวาตกโรคจะตายด้วยความร้อน

แบบเรื้อรัง

อาการท้องเสียที่เกิดขึ้นต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรืออาจเป็น ๆ หาย ๆ ถือเป็นอาการท้องเสียเรื้อรัง สาเหตุแบ่งได้ดังนี้

  1. โรคในระบบทางเดินอาหารและโรคลำไส้ผิดปกติ เช่น โรคโครห์น โรคลำไส้อักเสบ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
  2. ร่างกายไม่สามารถย่อยสารอาหารบางประเภท เช่น น้ำตาลแลคโตสที่พบมากในนม หรือสารทดแทนความหวาน
  3. ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคมะเร็ง รวมถึงยาลดกรดที่มีแมกนีเซียม
  4. การผ่าตัดบางชนิด เช่น การผ่าตัดลำไส้ หรือการผ่าตัดนำถุงน้ำดีออกไป

วิธีการรักษาโรคอุจจาระร่วง ท้องเสีย

วิธีรักษาโรคอุจจาระร่วง ท้องเสีย
  1. งดรับประทานอาหาร 2-4 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ
  2. รับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม
  3. ดื่มน้ำหวานและเกลือแร่สำหรับผู้ป่วยท้องเสีย (ORS) ห้ามดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬา
  4. ทารกสามารถดื่มนมแม่ได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็นนมผงต้องชงให้เจือจางอีก 1 เท่าตัว
  5. ห้ามกินยาแก้ท้องเสียหรือยาหยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคยังคงอยู่ในกระเพาะลำไส้ ทำให้ปวดท้องและแน่นท้องมากขึ้น
  6. หลีกเลี่ยงการดื่มนม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และน้ำผลไม้
  7. เคี้ยวอาหารให้ละเอียดและช้า เพื่อให้สามารถย่อยได้ง่าย และลดการสะสมแก๊สในลำไส้
  8. พยายามไม่เครียด เพราะความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นอาการท้องเสีย

ถ้าไม่ได้มีอาการท้องเสียรุนแรงจนต้องพบแพทย์ อาการมักหายได้เองภายใน 1-2 วัน ถ้าเกินกว่านี้ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะถึงแม้โรคท้องร่วงท้องเสียมักไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็อาจเป็นตัวบ่งชี้โรคอื่น ๆ ที่แฝงอยู่ และเป็นสาเหตุที่ทำให้อาการแย่ลง ดังนั้นรีบรักษาเนิ่น ๆ จะดีกว่า