ประเภทของสกินแคร์ (Skincare) แบ่งตามเนื้อผลิตภัณฑ์และลำดับการใช้

5430
สกินแคร์ (Skincare)

สกินแคร์ (Skincare) หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวมีมากมายหลายประเภท และแต่ละประเภทก็มีแยกไปอีกหลายรูปแบบให้เลือกใช้ตามสภาพผิวและปัญหาผิวที่แตกต่างกันไป สำหรับคนที่เพิ่งมาสนใจหรือศึกษา อาจสงสัยว่าทำไมสกินแคร์ถึงได้มีมากมายขนาดนี้ ไปดูกันดีกว่าว่าทำไมถึงต้องมีสกินแคร์หลายประเภท และแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร รวมถึงมีลำดับการใช้อย่างไร?

ประเภทของสกินแคร์ (Skincare)

ครีม (Cream)

1. เมคอัพรีมูฟเวอร์ (Makeup Remover)

เมคอัพรีมูฟเวอร์ (Makeup Remover) หรือ คลีนซิ่ง (Cleansing) คือ ผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอาง มีลักษณะเป็นของเหลว เช่น ออยล์ เจล น้ำ เป็นต้น วิธีใช้มีทั้งแบบหยดลงบนสำลีแล้วเช็ดทำความสะอาดผิวหน้า หรือนวดลงบนผิวหน้าแล้วค่อยใช้สำลีเช็ดออก เป็นการทำเพื่อล้างเครื่องสำอาง เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่แต่งหน้าแล้วลงรองพื้น (Foundation) บีบี (BB Cream) ไพรเมอร์ (Primer) รวมไปถึงครีมกันแดด เพราะเมคอัพรีมูฟเวอร์จะช่วยเช็ดเครื่องสำอางเหล่านี้ออกจนหมดก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการล้างหน้าด้วยคลีนเซอร์ (Cleanser) คือ สบู่ หรือโฟม ทำให้เครื่องสำอาง สิ่งสกปรก คราบมัน ไม่อุดตันบนใบหน้า เมคอัพรีมูฟเวอร์มีหลายประเภทให้เลือก ยกตัวอย่างเช่น

1.1 คลีนซิ่งวอเตอร์ (Cleansing Water)

คลีนซิ่งวอเตอร์มีลักษณะเป็นน้ำใสๆ มีส่วนผสมของน้ำมันน้อยมากจึงเหมาะกับคนที่ไม่ชอบความเหนอะหนะ วิธีใช้คือหยดลงบนสำลีและค่อยๆ เช็ดเครื่องสำอางบนใบหน้า โดยใช้สำลีหลายแผ่นจนกว่าจะไม่มีคราบเครื่องสำอางติดบนสำลี แต่สำหรับเครื่องสำอางชนิดกันน้ำอาจทำความสะอาดได้ไม่หมด ควรใช้คลีนซิ่งชนิดอื่นทำความสะอาดก่อน

1.2 คลีนซิ่งมิลค์ (Cleansing Milk)

คลีนซิ่งมิลค์มีเนื้อคล้ายโลชั่น มีส่วนประกอบของน้ำมัน เหมาะสำหรับเช็ดทำความสะอาดในวันที่แต่งหน้าแบบไม่ได้ลงรองพื้น วิธีทำความสะอาดคือใช้คลีนซิ่งมิลค์นวดเบาๆ บนใบหน้าประมาณ 2-3 นาที จากนั้นใช้สำลีชุบน้ำเช็ดออกให้สะอาด

1.3 คลีนซิ่งออยล์ (Cleansing Oil)

คลีนซิ่งออยล์มีลักษณะภายนอกคล้ายคลีนซิ่งวอเตอร์ แต่มีส่วนผสมของน้ำมัน เหมาะกับการล้างเครื่องสำอางแบบกันน้ำ วิธีใช้คล้ายคลีนซิ่งมิลค์ คือนวดลงบนใบหน้าให้ทั่ว จนเครื่องสำอางหลุดออกหมด แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด

1.4 คลีนซิ่งเจล (Cleansing Gel)

คลีนซิ่งเจลมีลักษณะเป็นเจล ทั้งแบบเจลสีขุ่น หรือเจลใส เหมาะทำความสะอาดในวันที่แต่งหน้าแบบเบาๆ ไม่ลงรองพื้น วิธีใช้คือนวดลงบนใบหน้าให้ทั่วจนเนื้อเจลเริ่มเหลว จากนั้นจึงบีบคลีนซิ่งเจลมาใช้เพิ่มและนวดลงไปจนกว่าเครื่องสำอางจะหลุดออกแล้วล้างด้วยน้ำสะอาด

2. คลีนเซอร์ (Cleanser)

คลีนเซอร์ (Cleanser) คือ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าหลังจากที่ล้างเครื่องสำอางออกแล้ว คลีนเซอร์จะทำความสะอาดสิ่งสกปรกที่ยังตกค้างในรูขุมขน และควรใช้ในทุกเช้าหลังตื่นนอน ไม่ใช่เฉพาะหลังล้างเครื่องสำอาง คลีนเซอร์มีหลายประเภท ยกตัวอย่างเช่น

2.1 สบู่ก้อน (Soap)

สบู่ล้างหน้ามักล้างสิ่งสกปรกได้หมดจดเพราะมีค่า pH สูง แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ผิวขาดความชุ่มชื้น ไม่เหมาะสำหรับคนที่มีผิวหน้าแห้ง

2.2 เจลล้างหน้า (Gel)

เจลล้างหน้ามีทั้งแบบมีฟองและไม่มีฟอง ใช้นวดทำความสะอาดทั่วใบหน้าแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด เหมาะกับคนที่มีผิวมัน

2.3 โฟมล้างหน้า (Foam)

โฟมล้างหน้าเป็นคลีนเซอร์ที่ได้รับความนิยมที่สุด มีลักษณะคล้ายเนื้อครีม มักตีให้เกิดฟองฟูๆ ก่อนนำมานวดบนผิวหน้าแล้วล้างออก แต่โฟมบางชนิดก็ไม่มีฟอง

3. โทนเนอร์ (Toner)

หลังจากทำความสะอาดใบหน้าด้วยคลีนซิ่งและคลีนเซอร์แล้ว การใช้โทนเนอร์ (Toner) จะช่วยเก็บกวาดสิ่งสกปรกที่ตกค้างเป็นขั้นตอนสุดท้าย และเตรียมพร้อมผิวสำหรับการบำรุงด้วยสกินแคร์ในขั้นตอนต่อไป โทนเนอร์มีลักษณะเป็นโลชั่นเนื้อบาง และมักมีวิตามินและเกลือแร่บำรุงผิว วิธีใช้คือเทโทนเนอร์ลงบนสำลีแผ่นแล้วเช็ดทำความสะอาดเบาๆ ทั่วใบหน้าโดยเช็ดจากล่างครึ่งบนเพื่อเปิดรูขุมขน

4. เอสเซนส์ (Essence)

เอสเซนส์ (Essence) หรือที่สาวๆ เรียกกันติดปากว่าน้ำตบ คือ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าในขั้นแรก มีลักษณะเป็นน้ำเหลวใส เบาบาง ส่วนผสมไม่เข้มข้นเท่าเซรั่ม จึงซึมสู่ผิวได้เร็วกว่า และเหมาะกับทุกสภาพผิว วิธีใช้ก็สมกับชื่อน้ำตบ คือเทลงบนฝ่ามือแล้วตบเบาๆ บริเวณแก้ม หน้าผาก คาง เพื่อให้ซึมซาบเข้าสู่ผิว

5. เซรั่ม (Serum)

เซรั่ม (Serum) ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เนื้อเข้มข้นกว่าเอสเซนส์ จึงเห็นผลได้ไวกว่า เซรั่มมีส่วนผสมของน้ำมัน จึงไม่เหมาะกับคนที่มีผิวมัน เซรั่มสามารถแก้ปัญหาผิวได้อย่างเจาะจง เช่น แก้ปัญหาสิว ริ้วรอย จุดหมองคล้ำ วิธีใช้คือเทเซรั่มลงบนฝ่ามือแล้วทาให้ทั่วใบหน้า

6. อีมัลชั่น (Emulsion)

อีมัลชั่น (Emulsion) คือมอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่เนื้อบางเบา มีส่วนผสมของโลชั่นและครีมแต่ออกไปทางโลชั่นมากกว่า เหมาะทั้งคนผิวแห้ง และผิวมัน เพราะอีมัลชั่นช่วยคงความชุ่มชื้นให้กับผิว ซึ่งสำหรับผิวมันเกิดจากผิวขาดน้ำรูขุมขนจึงผลิตน้ำมันออกมา การเพิ่มความชุ่มชื้นด้วยอีมัลชั่นจะลดความมันบนใบหน้าได้นั่นเอง

7. โลชั่น (Lotion)

โลชั่น (Lotion) ไม่ใช่สกินแคร์สำหรับบำรุงผิวกายเท่านั้น แต่ยังมีแบบบำรุงผิวหน้าด้วย ซึ่งจะมีเนื้อที่เข้มข้นกว่าอีมัลชั่นเพราะมีน้ำมันมากกว่า แต่จะเหลวกว่าเนื้อครีม การทาโลชั่นช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว และช่วยเคลือบผิวชั้นนอกเพื่อลดการสูญเสียน้ำ เหมาะทั้งผิวธรรมดาและผิวผสม นอกจากนิ้สกินแคร์ทางฝั่งเอเชียก็มีผลิตภัณฑ์โลชั่นที่เป็นเป็นน้ำคล้ายโทนเนอร์และเอสเซนส์ ซึ่งไว้ใช้เป็นน้ำตบได้เช่นกัน

8. ครีม (Cream)

ครีม (Cream) เป็นสกินแคร์ที่ได้รับความนิยมที่สุด และมีส่วนผสมของน้ำมันเยอะที่สุด จึงมีเนื้อเข้มข้นที่สุด แม้จะใช้เวลาในการซึมซาบสู่ผิวนานกว่าแบบอื่นๆ แต่ก็ช่วยคงความชุ่มชื้นได้ดีที่สุด เหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวแห้ง หรือทาในช่วงอากาศหนาว เพราะมีน้ำมันช่วยเคลือบผิวป้องกันการสูญเสียน้ำ

9. ผลิตภัณฑ์กันแดด (Sunscreen)

ผลิตภัณฑ์กันแดด (Sunscreen) เป็นสกินแคร์ที่ใช้ในขั้นตอนสุดท้ายเพื่อปกป้องผิวจากรังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวี (Ultraviolet Radiation: UV) เนื่องจากรังสียูวีจะทำลายคอลลาเจนใต้ชั้นผิวหนัง ทำให้ผิวเหี่ยวย่น และยังทำให้ผิวหมองคล้ำ เกิดจุดด่างดำ และฝ้ากระตามมา ถ้าร้ายแรงก็อาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์กันแดดจะมีทั้งแบบดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลตเอาไว้ กับแบบที่สะท้อนรังสีอัลตราไวโอเลตออกไป และยังมีให้เลือกหลายรูปแบบ ทั้งแบบครีม โลชั่น เจล ขี้ผึ้ง และสเปรย์

ผลิตภัณฑ์สกินแคร์มีคุณสมบัติมากมายในการบำรุงผิว เช่น ลดเลือนริ้วรอย จุดด่างดำ เพิ่มความชุ่มชื้น ลดการเกิดสิว เป็นต้น นอกจากการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ปัญหาผิวแล้ว การเลือกเนื้อผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับสภาพผิวของเราก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน และเพื่อให้การบำรุงและดูแลผิวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ควรเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการล้างเครื่องสำอาง ล้างผิวหน้า บำรุงผิวด้วยผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งสามารถเรียงลำดับได้ตามความเข้มข้นของเนื้อผลิตภัณฑ์ ก่อนจะปกป้องผิวจากรังสียูวีด้วยครีมกันแดด เพื่อให้ผิวสวยใสอยู่กับเราไปนานๆ

บทความแนะนำ ...