เวียนหัว บ้านหมุน (Vertigo)…เกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร?

247
เวียนหัว บ้านหมุน (Vertigo)

อาการเวียนศีรษะ คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย อาจมีสาเหตุมาจากนอนไม่พอ ทำงานหนัก แต่ถ้ามีอาการเวียนหัวบ้านหมุนร่วมด้วย คือรู้สึกว่าพื้นโคลงเคลง เดินลำบาก จะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ขณะเดียวกันก็อาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นว่าอาจป่วยเป็นโรคอะไรบางอย่าง

เวียนศีรษะ บ้านหมุนคืออะไร?

อาการเวียนหัว บ้านหมุน

อาการเวียนหัวมีสาเหตุมาจากการทำงานประสานกันของอวัยวะ 3 ส่วน คือ ระบบประสาทรับภาพของตา ระบบประสาทรับความรู้สึก และประสาทหูชั้นใน หากทั้ง 3 ส่วนนี้ไม่ทำงานประสานกัน ก็จะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มอาการคือ

1. กลุ่มอาการเวียนศีรษะ (Dizziness)

ผู้ป่วยจะมีอาการมึนงง สมองตื้อ เกิดอาการหน้ามืดได้ง่าย แต่ไม่รู้สึกว่าสิ่งรอบตัวหมุน โคลงเคลง มักเกิดจากเลือดไปหล่อเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ซึ่งอาจมีสาเหตุสืบเนื่องมาจาก การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือโรคที่เกี่ยวกับระบบหมุนเวียนเลือด อย่างโรคหัวใจ โรคความดันโลหิต ซึ่งต้องรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

2. กลุ่มอาการหลอนของการเคลื่อนไหว หรืออาการบ้านหมุน (Vertigo)

ผู้ป่วยจะมีอาการมึนงงพร้อมกับรู้สึกว่าสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมีการเคลื่อนไหว โคลงเคลง จึงเรียกอาการนี้ว่า “บ้านหมุน” ซึ่งทำให้เสียการทรงตัว เดินลำบาก และอาจคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย โดยมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่คงอยู่ไม่กี่วินาที แต่อาจเกิดขึ้นต่อเนื่องและนานหลายวัน โดยสาเหตุของอาการเวียนหัวบ้านหมุนมักเกิดจากหูชั้นในที่มีหน้าที่ควบคุมสมดุลการทรงตัวของร่างกายทำงานบกพร่อง แต่ก็เกิดจากโรคอื่น ๆ ได้เช่นกัน มักพบในคนมีอายุ 50 ปีขึ้นไป

อาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน

  1. รู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมโคลงเคลง บ้านหมุน
  2. หูอื้อ การได้ยินลดลง
  3. มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน

สาเหตุของอาการบ้านหมุน

สาเหตุอาการบ้านหมุน
  1. หูชั้นในที่ควบคุมสมดุลการทรงตัวของร่างกายมีความผิดปกติ เช่น โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน โดยเกิดจากความเสื่อมของหูชั้นใน พบมากในผู้สูงอายุ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับอาการหูอื้อ, โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกหรือโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดจากความผิดปกติของน้ำในหูชั้นใน อาจทำให้การได้ยินลดลงและมีอาการหูอื้อ
  2. ได้รับเชื้อไวรัสที่หู ทำให้หูชั้นในอักเสบ มักพบในผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคหวัดหรือโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจมาก่อน แล้วไวรัสลุกลามไปยังหูชั้นใน แต่การได้ยินมักปกติดี แต่ถ้าได้รับเชื้อไวรัสจากแบคทีเรีย มักมีอาการรุนแรง และอาจมีอาการสูญเสียการได้ยินร่วมด้วย
  3. โรคเนื้องอกของประสาทการทรงตัวหรือเส้นประสาทการได้ยิน ผู้ป่วยจะมีสูญเสียการได้ยินร่วมด้วย หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ใบหน้าซีกนั้นเป็นอัมพาต หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เนื่องจากก้อนเนื้องอกโตขึ้นไปกดทับเนื้อสมอง
  4. โรคเส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบ (Vestibular Neuronitis) โรคนี้จะทำให้เวียนศีรษะรุนแรง แต่การได้ยินยังเป็นปกติ
  5. กระดูกกะโหลกแตกหัก เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ
  6. เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ

วิธีการรักษาอาการบ้านหมุน

วิธีการรักษาบ้านหมุน

การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเบื้องต้น

เวลาเกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุน สามารถบรรเทาอาการเบื้องต้นได้ดังนี้

  • เมื่อเกิดอาการให้นั่งพัก และเคลื่อนไหวศีรษะให้ช้า
  • ถ้าสามารถนอนได้ ให้นอนโดยยกศีรษะขึ้นสูง หรือใช้หมอนหนุน 2 ใบ และนอนพักผ่อน ทางที่ดีควรนอนในห้องที่มืดและเงียบ
  • ทำตัวให้ผ่อนคลาย ถ้ามีความวิตกกังวลอาจแย่ลงได้

การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง

ถ้าเป็นผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุมาจากโรคต่าง ๆ ต้องเข้ารับการรักษากับแพทย์ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาวิธีรักษาที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โดยวิธีการรักษามีดังนี้

  • การรักษาด้วยยา โดยจะแยกยาตามโรคของผู้ป่วย ถ้าอาการบ้านหมุนเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ก็จะได้รับยาปฏิชีวนะหรือสเตียรอยด์ หรือถ้าเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน เช่น โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน แพทย์อาจให้ยาขับปัสสาวะเพื่อลดการสะสมตัวของของเหลว
  • การเคลื่อนตะกอนหินปูนเคลื่อนให้กลับเข้าที่ ใช้รักษาโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน
  • การฟื้นฟูระบบการทรงตัว ทำด้วยการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูประสาทที่ช่วยในการทรงตัวโดยเฉพาะ
  • การผ่าตัด วิธีนี้มักใช้รักษาในผู้ป่วยที่มีเนื้องอก หรือจากการได้รับบาดเจ็บ

อาการบ้านหมุน สามารถป้องกันได้โดยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่รับประทานอาหารรสเค็มจัดเพราะส่งผลต่อระบบน้ำในร่างกายที่อาจรบกวนสมดุลการทรงตัว และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มอย่างแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ น้ำอัดลม เพราะสารในเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้ระบบหมุนเวียนเลือดนำออกซิเจนไปเลี้ยงหูชั้นในได้น้อยลง