โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) คืออะไร? รักษาได้อย่างไร?

476
ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)

พนักงานออฟฟิศหรือวัยทำงานที่ต้องนั่งติดอยู่หน้าโต๊ะคอมพิวเตอร์ มือก็พิมพ์บนแป้นคีย์บอร์ด สายตาก็จ้องอยู่ที่หน้าจอ เป็นอย่างนี้ติดต่อกันเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน ไม่แปลกที่จะเกิดอาการปวดเมื่อยขึ้นได้เพราะกล้ามเนื้อไม่ได้ยืดเส้นยืดสาย ยิ่งอยู่ในอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม หรือโต๊ะเก้าอี้ไม่เหมาะกับสรีระ ก็อาจทำให้กลายเป็น “โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)” ได้

ออฟฟิศซินโดรมคืออะไร?

โรคออฟฟิศซินโดรม

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) คือ โรคที่อยู่ในกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อหรือเยื่อพังผืด เป็นโรคที่มักเกิดขึ้นกับวัยทำงานหรือพนักงานออฟฟิศที่นั่งทำงานอยู่หน้าโต๊ะทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมงต่อวัน จึงมีชื่อเรียกว่า “โรคออฟฟิศซินโดรม” แต่ทั้งนี้ก็สามารถเกิดขึ้นกับผู้ที่ต้องอยู่ในอิริยาบถเดิมเป็นระยะเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน เช่น นั่งรถเป็นเวลานาน หรือทำงานอื่นๆ ในอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม เช่น หลังค่อม ไหล่ห่อ หรือก้มคอมากเกินไป ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อ เกิดอาการชาหรือปวดเมื่อยตามบริเวณต่างๆ พบมากในช่วงวัย 16 – 44 ปี

อย่างไรก็ตาม ออฟฟิศซินโดรม สามารถแบ่งกลุ่มอาการได้ 3 แบบ คือ อาการทางระบบการมองเห็น อาการทางระบบทางเดินหายใจ อาการทางระบบกล้ามเนื้อ โดยอาการทางระบบกล้ามเนื้อเป็นอาการที่เกิดขึ้นมากที่สุด และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายที่สุด

อาการของโรคออฟฟิศซินโดรม

อาการออฟฟิศซินโดรม
  • ปวดศีรษะ และอาจมีอาการปวดไมเกรนร่วมด้วยกรณีที่ทำงานใช้สายตามาก
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะหลัง ไหล่ คอ เนื่องจากนั่งทำงานในท่าเดิมเป็นเวลานานและเป็นประจำ
  • ตึง และชาตามอวัยวะต่างๆ เพราะกล้ามเนื้อ เส้นประสาท เส้นเอ็น มีอาการอักเสบ หรือตึงตัว
  • นิ้วล็อค เกิดขึ้นได้กรณีที่จับเมาส์คอมพิวเตอร์ หรือใช้นิ้วมือและข้อเพื่อใช้มือถือเป็นเวลานาน ทำให้เส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นนิ้วมืออักเสบ จากนั้นเส้นเอ็นจะหนาขึ้น ทำให้เหยียดนิ้วไม่ได้ตามปกติ
  • นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท เพราะอาการปวดเมื่อยรบกวนเวลานอน

สาเหตุของโรคออฟฟิศซินโดรม

สาเหตุออฟฟิศซินโดรม
  • การทำงานหรืออยู่ในอิริยาบถเดิมซ้ำเป็นเวลานานหลายชั่วโมงต่อวัน และติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง
  • เก้าอี้ที่นั่ง หรือโต๊ะทำงาน ไม่เหมาะกับสรีระของร่างกาย เช่น ต้องก้มหรือเงยมากเกินไป หรือไม่มีพนักพิง
  • ระยะห่างหรือระดับความสูงของหน้าจอคอมพิวเตอร์ รวมถึงคีย์บอร์ด อยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมกับการทำงาน
  • การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือเป็นเวลานานเกินไป รวมถึงแสงสว่างของหน้าจอไม่สมดุลกับแสงสว่างในห้อง เป็นสาเหตุทำให้ปวดศีรษะและปวดตา
  • อยู่ในที่ทำงานที่อากาศไม่ถ่ายเท มีฝุ่นเยอะ ก่อให้เกิดออฟฟิศซินโดรมในกลุ่มอาการทางระบบทางเดินหายใจ
  • การทำงานหนักโดยไม่พักผ่อน ก่อให้เกิดออฟฟิศซินโดรมได้โดยง่าย

วิธีการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม

วิธีรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม
  • ปรับเปลี่ยนท่านั่งให้เหมาะสม ไม่ห่อไหล่ ไม่นั่งหลังค่อม ก้มหน้าหรือเงยหน้ามากเกินไป แต่ให้นั่งหลังตรงแนบกับพนักพิง และสายตาห่างจากหน้าจอประมาณ 1 ช่วงแขน
  • ปรับเปลี่ยนเก้าอี้ โต๊ะทำงาน ตำแหน่งที่ตั้งของหน้าจอคอมพิวเตอร์ คีย์บอร์ดให้ถูกต้องเหมาะสมกับสรีระของร่างกาย โดยเก้าอี้ต้องสูงระดับที่นั่งแล้วเท้าจรดกับพื้นได้ และเข่าอยู่ระดับเดียวกับสะโพกหรือต่ำกว่าเล็กน้อย
  • ควรลุกไปยืดเส้นยืดสายเป็นระยะ ระหว่างนั่งทำงาน ไม่นั่งท่าเดิมอยู่ตลอด
  • หมั่นออกกำลังกายท่าที่ช่วยยืดกล้ามเนื้อ เช่น โยคะ หรือพิลาทิส
  • ปรับออฟฟิศให้อากาศถ่ายเทมากขึ้น
  • ถ้ามีอาการรุนแรง เช่น ขยับร่างกายลำบาก เดินลำบาก รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรพักจากการทำงาน แล้วไปพบแพทย์เพื่อทำกายภาพบำบัด ร่วมกับวิธีรักษาแบบอื่นๆ เช่น การนวดกดจุด การฝังเข็ม

โรคออฟฟิศซินโดรมเป็นโรคที่เกิดขึ้นแล้วสามารถรักษาได้ แต่บางครั้งถ้าเป็นเรื้อรังหรืออาการหนัก อาจต้องใช้เวลานานในการบำบัดรักษา ซึ่งอาจต้องพักงานหรือทำให้ชีวิตประจำวันมีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือป้องกันไว้ตั้งแต่แรก โดยจัดโต๊ะทำงานและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม รวมถึงฝึกนั่งในท่าที่ดีต่อสรีระร่างกายให้ติดเป็นนิสัย