โรคติดเกม (Gaming Disorder) คืออะไร? มีสาเหตุจากอะไร รักษาได้อย่างไร?

942
โรคติดเกม (Gaming Disorder)

การเล่นเกมเป็นกิจกรรมสร้างความสุข และช่วยผ่อนคลายได้ไม่ต่างจากการดูหนัง ฟังเพลง เล่นกีฬา หรือท่องเที่ยว แต่สำหรับคนที่ใช้เวลาอยู่กับเกมมากจนเกินไป เช่น เล่นเกมทั้งวันทั้งคืนแทบไม่หลับไม่นอน และมีพฤติกรรมแบบนี้ติดกันเป็นเวลานานหลายเดือน อาจเข้าข่ายของผู้ที่เป็นโรคติดเกม (Gaming Disorder)

โรคติดเกมคืออะไร?

โรคติดเกม (Gaming Disorder) คือ อาการติดเกมจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้และไม่สนใจสิ่งอื่นๆ ส่งผลเสียต่อกิจกรรมในชีวิตประจำวันรวมถึงความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง และพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานเป็นปี โดยเมื่อปี ค.ศ. 2018 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้บรรจุโรคติดเกมลงในคู่มือวินิจฉัยและจัดประเภทของโรคระหว่างประเทศฉบับที่ 11 (The International Classification of Diseases 11th revision) หรือ “ICD-11” ว่าเป็นโรคที่อยู่ในหมวดหมู่ความผิดปกติทางจิต กลุ่มการติดสารเสพติดและการเสพติดพฤติกรรม ซึ่งมีอาการคล้ายกับผู้ที่ติดสุรา หรือติดการพนัน ต้องได้รับการรักษาในเชิงการแพทย์

นอกจากนี้โรคติดเกมอาจนำไปสู่การเสพติดอื่นๆ เช่น การติดสุรา คาเฟอีน นิโคติน ซึ่งจะยิ่งทำให้อาการของโรคซับซ้อนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ชื่นชอบการเล่นเกมไม่ใช่ว่าจะเป็นโรคติดเกมกันทุกคน เหมือนกับที่คนดื่มสุราไม่ใช่คนที่เสพติดสุราทุกคน

สาเหตุของโรคติดเกม

1. พันธุกรรม

ในทางการแพทย์ โรคติดเกมขึ้นอยู่กับความผิดปกติของสารเคมีในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยับยั้งชั่งใจ การควบคุมอารมณ์ และการจัดรางวัล (Reward Processing) ซึ่งในคนปกติจะมีความสุขจากการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การกิน การนอน การดูหนังฟังเพลง แต่ถ้าสมองส่วนของการจัดรางวัลมีความผิดปกติ กิจกรรมทั่วไปจะทำให้ไม่มีความสุข เกมจึงเป็นหนึ่งในทางออกของคนที่มีปัญหาจากสารเคมีในสมองผิดปกติ โดยความผิดปกตินั้นสามารถถ่ายทอดจากพ่อแม่มาสู่ลูกได้

2. โรคทางจิตเวช

จากที่กล่าวไปข้างต้นว่าโรคติดเกมขึ้นอยู่กับความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ผู้ที่ติดเกมจึงอาจมีสาเหตุมาจากการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เพราะไม่มีความสุขในการทำกิจกรรมอย่างอื่น หรือเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น จึงทำให้ไม่สามารถควบคุมตนเองได้

3. ครอบครัว

การเลี้ยงดูในครอบครัวมีผลต่อการเกิดโรคติดเกมอย่างมาก เช่น พ่อแม่ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแล หรืออบรมสั่งสอนให้เด็กมีระเบียบวินัย ทำให้เด็กไม่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งชั่งใจ หรือพ่อแม่ใช้สมาร์ทโฟนในการเลี้ยงลูก รวมไปถึงครอบครัวที่มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง ทำให้เด็กรู้สึกเครียด ไม่มีความสุข จึงใช้เกมเป็นเครื่องช่วยผ่อนคลาย

4. เกม

เกมในปัจจุบันได้รับการสร้างให้มีเนื้อหาน่าติดตาม มีวิธีการเล่นที่ทำให้ผู้เล่นรู้สึกสนุก เมื่อเคลียร์ด่านได้จะรู้สึกว่าตนเองเก่งและประสบความสำเร็จ ทำให้เกิดความภูมิใจ รู้สึกเป็นผู้นำ ยิ่งถ้าเป็นบุคคลที่ในชีวิตจริงมีนิสัยขี้อาย หรือไม่ค่อยได้รับการยอมรับ ก็จะยิ่งมีแนวโน้มติดเกมสูง ทั้งนี้ประเภทของเกมมีความหลากหลายมาก ทำให้เด็กผู้หญิงก็หันมาเล่นเกมกันมากขึ้น

ผลกระทบของการติดเกม

1. การเรียน

ผู้ที่ติดเกมจะขาดสมาธิในการเรียน เพราะคิดถึงแต่เรื่องการเล่นเกมตลอดเวลา ส่งผลให้ไม่มีใจจดจ่อกับเนื้อหาที่เรียน ไม่มีความสุขกับการเรียน ทำให้ผลการเรียนไม่ดี จนอาจถึงขั้นต้องออกจากโรงเรียน

2. ความสัมพันธ์

ไม่ว่าจะครอบครัว เพื่อน คนรัก ผู้ที่ติดเกมจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัวน้อยลง ทำให้เกิดปัญหาในความสัมพันธ์ได้

3. ปัญหาทางจิตเวช

ผู้ที่ติดเกมมักแยกตัวออกมาจากคนอื่น เกิดความโดดเดี่ยว นำไปสู่โรคทางจิตเวชต่างๆ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล และมีแนวโน้มที่จะติดสารเสพติดอื่นๆ รวมถึงมีปัญหาทางพฤติกรรม

4.สุขภาพ

  • สายตา การเล่นเกมทำให้ต้องจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตเป็นเวลา ทำให้ดวงมีความอ่อนล้า ตาแห้ง และอาจทำให้สายตาสั้น หรือดวงตาแพ้แสงได้
  • โรคอ้วน เพราะการเล่นเกมทำให้นั่งอยู่แต่กับหน้าจอ ไม่ได้เคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย บางคนก็เล่นไปด้วยกินไปด้วย โดยเฉพาะขนมกรุบกรอบ จึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนได้
  • กล้ามเนื้อและกระดูก อาจทำให้มีอาการปวดเมื่อยคอ หลัง ไหล่ ข้อมือ หรือบางคนอาจเล่นเกมจนนิ้วล็อกเลยทีเดียว
  • การนอน การเล่นเกมก่อนนอนทำให้ต้องจ้องแสงสีฟ้าจากหน้าจอ ส่งผลให้สมองคิดว่าเป็นเวลากลางวัน มีผลกระทบต่อการผลิตสารเมลาโทนินที่ควบคุมการนอน จึงทำให้นอนหลับได้ยาก และมีปัญหานอนหลับไม่เพียงพอ
  • อารมณ์ การติดเกมทำให้เกิดผลกระทบทั้งด้านการเรียน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ปัญหาการนอน จึงทำให้มีความเครียด อารมณ์ไม่แจ่มใส ยิ่งถ้าเล่นเกมที่มีเนื้อหารุนแรง ก็อาจส่งผลให้เป็นคนที่มีพฤติกรรมรุนแรงมากขึ้น

วิธีการรักษาโรคติดเกม

แม้ว่าองค์กรอนามัยโลกจะบรรจุอาการติดเกมเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง แต่ในทางการแพทย์ยังไม่พบวิธีการรักษาที่แน่นอนนอกจากการบำบัดพฤติกรรม และความคิด เช่น

  • สร้างแรงจูงใจให้ลดการเล่นเกม
  • สร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจกันในครอบครัว
  • ทำให้ผู้ที่ติดเกมเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการติดเกม
  • เสริมสร้างความภาคภูมิใจอื่นๆ นอกจากการเล่นเกม
  • คนรอบข้างต้องคอยให้กำลังใจ เพื่อไม่ให้กลับไปติดเกมซ้ำอีกครั้ง

ถ้าพบว่าโรคติดเกมเกิดจากโรคทางจิตเวชอื่นๆ เช่น ซึมเศร้า สมาธิสั้น ต้องรักษาและบำบัดโรคเหล่านี้ควบคู่กันไปด้วย

ผู้ปกครองส่วนใหญ่คงไม่คิดว่าอาการติดเกมของลูกหลานภายในบ้านจะนับเป็นโรคที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา แต่ถ้าค่อยๆ ทำความรู้จักกับโรคติดเกม (Gaming Disorder) และทำความเข้าใจเด็กที่ติดเกมเพื่อหาสาเหตุของโรค ก็จะทำให้สามารถช่วยบำบัดรักษาเด็กๆ จากโรคนี้ และทำให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้ไม่ยาก

บทความแนะนำ