แนวทางการรักษานอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

337
การรักษานอนกรน

อาการนอนกรนเกิดจากกล้ามเนื้อคอคลายตัวขณะหลับจนทำให้ช่องคอแคบลง ทำให้มีเสียงกรนตามมา แต่อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ผู้ชายมักมีอัตราการนอนกรนมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะคนอ้วน ผู้สูงวัย ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หรือโรคจมูกอักเสบ ผู้ที่ทำงานหักโหม หรือออกกำลังกายมากเกินไป นอกจากนี้การดื่มสุรา สูบบุหรี่จัด กินยานอนหลับก็เป็นสาเหตุที่ทำให้กรนได้ จึงควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษานอนกรน

รีบรักษานอนกรนก่อนที่จะเกิดโรคร้ายแรง!

ปัญหานอนกรนมักเกิดขึ้นในช่วงของการหลับลึกและจะกรนดังมากขึ้นเมื่ออยู่ในท่านอนหงาย โดยมีเสียงเกิดขึ้นที่บริเวณลำคอระหว่างหายใจเข้าในขณะนอนหลับ นอนกรนที่ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ทราบหรือไม่ว่าอาจเป็นตัวการทำให้เกิดโรคร้ายแรงหลายชนิดตามมา เช่น โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคทางจิต รวมถึงอาจเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเกิดจากการที่อากาศไม่สามารถไหลเวียนเข้ามาในร่างกายได้ ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง

จะเห็นได้ว่า การนอนกรนนอกจากจะสร้างความรำคาญให้กับบุคคลใกล้ชิดแล้ว อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาอีกมากมาย ดังนั้นเมื่อพบว่าตัวเองหรือคนในครอบครัวเป็นโรคนอนกรนควรรีบหาวิธีแก้นอนกรนที่ถูกต้องตามอาการ โดยเบื้องต้นควรทำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสำหรับผู้ที่นอนกรนในระดับที่ไม่รุนแรง เช่น ลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนเข้านอน เปลี่ยนท่านอนจากนอนหงายเป็นนอนตะแคง สำหรับการนอนกรนแบบอันตราย คือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย จะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสม

การรักษานอนกรนโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ปัจจุบัน เราสามารถรักษานอนกรนได้อย่างหลากหลายวิธีที่ได้ผล โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะวินิจฉัยจากอาการของผู้ที่นอนกรนหรือทำการตรวจร่างกาย หากแพทย์สงสัยว่าจะมีสาเหตุมาจากความผิดปกติในช่องปากของผู้ที่นอนกรนในระดับที่ไม่รุนแรง ก็จะแนะนำให้เริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากเป็นผู้ที่นอนกรนในระดับที่รุนแรง อาจพิจารณาใช้เครื่อง CPAP ซึ่งเป็นอุปกรณ์อัดแรงดันลมร่วมด้วย หรืออาจจะต้องผ่าตัดในกรณีที่มีอาการรุนแรงมากและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ