สินเชื่อรถยนต์คืออะไร? สินเชื่อเช่าซื้อรถ จำนำทะเบียนรถแตกต่างกันอย่างไร?

824
สินเชื่อรถยนต์

สำหรับคนที่จำเป็นต้องซื้อรถยนต์เพื่อมาใช้งานแต่ไม่มีเงินสดพอจะซื้อได้ สินเชื่อรถยนต์เป็นทางออกยอดนิยม เพียงมีเงินก้อนประมาณ 10-20% ของราคารถก็สามารถขอสินเชื่อรถยนต์ได้แล้ว ทำให้ไม่จำเป็นต้องเก็บเงินจนครบถึงได้รถยนต์มาใช้ นอกจากนี้สำหรับคนที่มีรถยนต์เป็นของตัวเองแล้ว และมีความต้องการใช้เงิน ก็สามารถนำรถยนต์มาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อได้เช่นกัน

สินเชื่อรถยนต์คือ?

สินเชื่อรถยนต์ คือ การเช่าซื้อรถยนต์โดยทำสัญญากับสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อผ่านทางโชว์รูม โดยสถาบันการเงินจะจ่ายค่าเชื่อซื้อให้กับโชว์รูม แล้วผู้เช่าซื้อต้องไปผ่อนชำระกับสถาบันการเงินเป็นงวดๆ ตามระยะเวลาที่กำหนดพร้อมกับอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญา

นอกเหนือจากการซื้อรถยนต์แล้ว ก็ยังมีสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ โดยเป็นสินเชื่ออเนกประสงค์แบบมีหลักประกันเป็นรถยนต์หรือที่เรียกว่าสินเชื่อจำนำทะเบียนรถนั่นเอง

รูปแบบของสินเชื่อรถยนต์

1. สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

ในการเช่าซื้อรถยนต์ ผู้เช่าซื้อต้องชำระเงินเป็นงวดๆ จนครบระยะเวลาที่กำหนด โดยจะได้รถยนต์มาใช้ในระหว่างนั้น เพียงแต่กรรมสิทธิ์รถยังไม่เป็นของผู้เช่าซื้อจนกว่าจะ ชำระเงินครบตามสัญญา สินเชื่อรถยนต์เหมาะกับผู้ที่ยังไม่พร้อมจะจ่ายเงินซื้อรถเป็นเงินสด เพราะถึงแม้การซื้อสดจะช่วยลดภาระค่าดอกเบี้ยไปได้ แต่การหาเงินสดมาจ่ายค่ารถเลยอาจจะไม่ง่าย แต่ถ้าพอจะมีเงินก้อนอยู่บ้างก็สามารถใช้เป็นเงินดาวน์ได้ ยิ่งดาวน์มากก็จะทำให้เงินที่ต้องผ่อนชำระต่องวดลดลง ระยะเวลาการผ่อนสั้นลง และดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายก็น้อยลงด้วย

1.1 สินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่

วงเงินที่ขอสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ได้อยู่ที่ 75-80% ของราคารถยนต์ ส่วนที่กู้ไม่ได้ผู้ขอสินเชื่อต้องออกเงินชำระด้วยตัวเองเท่านั้น เรียกว่าเงินดาวน์ หรือถ้าสามารถวางเงินดาวน์ได้มากกว่านี้ก็สามารถทำได้เพื่อให้ค่าผ่อนชำระต่องวดและระยะเวลาในการผ่อนลดลง

1.2 สินเชื่อเช่าซื้อรถใช้แล้ว/รถมือสอง

วงเงินที่จะกู้เพื่อซื้อรถมือสองจะประเมินจากสภาพรถ อายุการใช้งาน และภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่าเพราะสถาบันการเงินต้องแบกรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นเนื่องจากรถมือสองขายทอดตลาดยากกว่า

การขอสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ต้องมีเอกสารแสดงตน คือ บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน และสลิปเงินเดือนหรือหน้าบสมุดบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน และเล่มทะเบียนรถยนต์ที่จะขอสินเชื่อ โดยเอกสารอื่นๆ อาจมีเพิ่มเติมตามที่สถาบันกำหนดหรือตามสายอาชีพที่ทำ เช่น พนักงานประจำ เจ้าของกิจการ หรืออาชีพอิสระ ไปจนถึงพ่อค้าแม่ค้า

2. สินเชื่ออเนกประสงค์แบบมีหลักประกันเป็นรถยนต์

สินเชื่อแบบมีหลักประกันเป็นรถยนต์ เป็นสินเชื่อที่ผู้ขอสินเชื่อใช้ทรัพย์สินซึ่งก็คือรถยนต์มาเป็นหลักประกัน โดยผู้ขอสินเชื่อไม่จำเป็นต้องระบุวัตถุประสงค์การกู้ ไม่ว่าจะนำไปใช้จ่ายอะไรก็ตาม โดยคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์นั้น เช่น ถ้าเป็นรถยนต์ที่กู้สินเชื่อมาซื้อและยังผ่อนชำระไม่หมดก็ยังไม่ถือว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ไม่สามารถขอสินเชื่อแบบมีหลักประกันเป็นรถยนต์ได้ จึงเป็นสินเชื่อที่เหมาะกับผู้ที่มีรถยนต์เป็นของตนเอง

วงเงินที่ผู้ให้สินเชื่อจะอนุมัติ จะประเมินจากมูลค่ารถยนต์ในตลาด ณ ขณะนั้น รวมกับความสามารถของผู้ขอสินเชื่อว่าจะผ่อนชำระได้ที่งวดละเท่าไหร่ และระยะเวลาเท่าไหร่ ส่วนอัตราดอกเบี้ยมักคิดแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ และค่าธรรมเนียมต่างๆ จะแตกต่างกันไปตามแต่ละสถาบันการเงิน

2.1 สินเชื่อจำนำทะเบียนรถแบบโอนเล่มทะเบียน

สินเชื่อแบบนี้จะให้วงเงินและระยะเวลาการผ่อนนานกว่าแบบไม่โอนเล่มทะเบียน เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ต้องโอนเล่มทะเบียนกับผู้ให้สินเชื่อเพื่อเป็นหลักประกัน โดยจะได้วงเงินประมาณ 80-120% และมีระยะผ่อนชำระประมาณ 78-84 งวด

2.2 สินเชื่อจำนำทะเบียนรถแบบไม่โอนเล่มทะเบียน

สินเชื่อแบบนี้จะได้วงเงินและระยะเวลาการผ่อนชำระน้อยกว่าแบบโอนเล่มทะเบียน เพราะผู้ขอสินเชื่อไม่ต้องโอนเล่มทะเบียนแก่ผู้ให้สินเชื่อเป็นหลักประกัน แต่ต้องมีการลงนามไว้และมีผู้ค้ำประกันด้วย ผู้ที่สามารถขอสินเชื่อแบบไม่โอนเล่มทะเบียนได้ต้องมีประวัติการชำระหนี้ที่ดี ส่วนวงเงินที่ได้ประมาณ 70-80% ของราคาประเมิน ส่วนระยะเวลาการผ่อนประมาณ 60 งวด

การขอสินเชื่อรถยนต์ไม่ว่าเพื่อจุดประสงค์อะไร ผู้ขอสินเชื่อต้องมีวินัยในการผ่อนชำระเงินให้ได้ตามงวดและระยะเวลาที่กำหนด เพราะไม่อย่างนั้นอาจจะกลายเป็นหนี้ รถยนต์ที่กู้ซื้อมาก็ต้องเสียไป และมีประวัติการชำระหนี้ที่ไม่ดี ทำให้ขอสินเชื่ออื่นๆ ได้ยากในอนาคต