5 วิธีการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุให้แข็งแรง สุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ

453
วิธีการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุให้แข็งแรง

ไม่ว่าคนวัยไหนก็ต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นวัยที่สมรรถภาพร่างกายที่เสื่อมถอยและอาจจะยังมีโรคประจำตัวที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม และไม่ว่าอายุจะมากขึ้นแค่ไหนผู้สูงอายุก็ยังเป็นสมาชิกคนสำคัญของครอบครัว สมาชิกทุกคนจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุให้แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อสร้างความเข้าใจให้ทุกคนในบ้านอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ซึ่งเราก็มีแนวทางการดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดีมาแนะนำดังนี้

วิธีการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

1. จัดบ้านให้ปลอดภัยต่อผู้สูงอายุ

บ้านเป็นที่ที่ควรปลอดภัยที่สุดสำหรับทุกคนโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เราจึงควรจัดบ้านให้เหมาะสมเพื่อป้องกันอุบติเหตุที่ไม่คาดคิด ซึ่งบ้านที่เหมาะกับผู้สูงอายุจึงควรมีพื้นเรียบสม่ำเสมอ เฟอร์นิเจอร์มีขนาดที่สะดวกต่อการใช้งาน ตกแต่งบ้านด้วยสีสันที่มีชีวิตชีวา อากาศถ่ายเทสะดวกให้ความรู้สึกสดชื่น

นอกจากการปรับปรุงบ้านแล้ว ก็ยังต้องหมั่นตรวจอุปกรณ์หรือเครื่องช่วยเดินภายในบ้านให้ปลอดภัยอยู่เสมอ เช่น ยางหุ้มกันลื่นปลายไม้เท้า แผ่นยางกันลื่นภายในห้องน้ำ ราวจับภายในห้องน้ำอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม โดยรายละเอียดเล็กๆ เหล่านี้จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้สูงอายุได้อีกมาก

2. ทำความเข้าใจอารมณ์และความเครียดของผู้สูงอายุ

ความเครียดจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ผู้สูงอายุต้องรับมืออย่างมาก ทั้งจากการเจ็บป่วยทำให้รู้สึกด้อยค่า การสูญเสียคู่ครองหรือเพื่อนสนิท ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวที่ลดน้อยลงจนรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง และแสดงออกผ่านพฤติกรรมจู้จี้ ขี้บ่น หรือมีเรื่องขัดแย้งกับผู้อื่น ด้วยเหตุนี้ลูกหลานในบ้านจึงควรพยายามทำความเข้าใจและอดทนต่อความเครียดที่อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ เพราะบางปัญหาต้องใช้เวลาช่วยกันหาทางออก

วิธีผ่อนคลายความเครียดให้ผู้สูงอายุมีหลากหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น การให้ผู้สูงอายุนอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ ออกกำลังกายเป็นประจำ ทำงานอดิเรก เช่น ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ หรือแม้แต่การที่เราพูดคุยเรื่องขำขันกับผู้สูงอายุ และหมั่นแวะเวียนไปหาท่านเพื่อไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยว สร้างความมั่นใจว่าครอบครัวจะไม่ทิ้งกัน และพาไปเที่ยวพักผ่อนนอกสถานที่ ก็จะช่วยลดความเครียดให้ผู้สูงอายุได้มากขึ้นแล้ว

3. ปรับการสื่อสารให้เข้าใจกันมากขึ้น

ครอบครัวที่อาศัยอยู่กับผู้สูงอายุมักมีปัญหาการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน เนื่องจากอวัยวะที่ใช้รับรู้ต่างๆ เริ่มเสื่อมลงโดยเฉพาะประสาทรับเสียงเสื่อมลง ทำให้หูตึงได้ยินเสียงโทนต่ำชัดกว่าเสียงธรรมดา เวลาพูดคุยกันจึงควรนั่งด้านหน้าผู้สูงอายุเพื่อให้ท่านอ่านปากเราได้ พูดช้าๆ ชัดๆ เสียงดัง แต่ไม่ถึงขั้นต้องตะโกน และสำคัญที่สุดคือต้องไม่แสดงอาการหงุดหงิดหากผู้สูงอายุไม่ได้ยินสิ่งที่เราพูด หรือจะให้ท่านใส่เครื่องช่วยฟังก็เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีอีกทางหนึ่ง

การสื่อสารกับผู้สูงอายุนั้นควรหลีกเลี่ยงประโยคคำสั่ง พูดด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายและใช้ภาษากายเข้าช่วย เช่น การจับมือและกอดเพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกอุ่นใจ นอกจากหูแล้วผู้สูงอายุก็มักมีปัญหาเรื่องสายตา เช่น สายตายาว เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ไม่เข้าใจกัน ดังนั้นเราจึงควรให้ท่านสวมแว่นสายตาด้วย

4. ดูแลเรื่องหาหารการกิน อย่าให้อ้วนเกิน

การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายทุกส่วนของผู้สูงอายุนั้นมีความสัมพันธ์กัน ทั้งการรับประทานอาหาร การย่อยอาหาร และการดูดซึม ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านโภชนาการไม่ต่างจากคนที่อายุน้อยกว่า ทั้งน้ำหนักตัวเกินหรือแม้แต่การขาดสารอาหาร ซึ่งปัญหาใหญ่ของผู้สูงอายุไทยคือความอ้วน ดังนั้นในอาหารหนึ่งจานควรแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย เมนูผัก 2 ส่วน เนื้อสัตว์ 1 ส่วน และแป้ง 1 ส่วน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารครบถ้วนและมีสัดส่วนที่พอเหมาะ

นอกจากการแบ่งสัดส่วนอาหารเพื่อสุขภาพแล้ว การทำเมนูอาหารที่อ่อนนุ่ม เคี้ยวง่าย ไม่ฝืดคอ จะช่วยให้ผู้สูงอายุรับปทระทานได้ง่ายขึ้น ควรให้มื้อหนักเป็นมื้อกลางวันหรือบ่ายแทนมื้อเย็น จะช่วยให้หลับสบายมากขึ้น และควรเน้นผักและผลไม้ที่มีประโยชน์ แต่ควรหลีกเลี่ยงการกินผักสดเพราะทำให้ท้องอืดได้ นอกจากนี้ควรให้ผู้สูงอายุหลีกเลี่ยงน้ำชาหรือกาแฟและอาหารที่มีไขมันมาก

บทความแนะนำ…

5. ให้ออกกำลังกายและเคลื่อนไหวอยู่เสมอ

แม้สมรรถภาพของผู้สูงอายุจะไม่ดีดังเดิม แต่การออกกำลังกายก็ยังจำเป็นและส่งผลดีต่อผู้สูงอายุไม่ต่างจากวัยอื่นๆ เพราะช่วยให้กระฉับกระเฉง ชะลอความแก่ ทำให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานเป็นปกติ มีภูมิต้านทานไม่เจ็บป่วยง่าย ลดความเสี่ยงเรื่องการหกล้มเพราะกล้ามเนื้อประสานงานได้ดีขึ้น ช่วยเรื่องการทรงตัว อีกทั้งการเคลื่อนไหวที่พอเพียงยังช่วยคลายเครียดและช่วยให้นอนหลับสบาย

หลักการออกกำลังกายง่ายๆ สำหรับผู้สูงอายุ คือวันละ 30 นาที แบ่งเป็นช่วง ช่วงละ 10 – 15 นาที สัปดาห์ละ 3 – 5 วัน โดยอบอุ่นร่างกายก่อนและหลังทุกครั้งเพื่อกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ผู้สูงอายุนั้นออกกำลังกายได้หลายชนิดไม่ว่าจะเป็นวิ่งหรือเดินช้าๆ ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำหรือเดินในน้ำ รำมวยจีน และโยคะ แต่ต้องประเมินสภาพร่างกายของแต่ละคนก่อนเพื่อไม่ให้ออกกำลังกายหนักจนเกินไป

จากแนวการดูแลผู้สูงอายุทั้งหมดนี้จะช่วยให้เราดูแลผู้สูงอายุได้ง่ายและดียิ่งขึ้น แต่เราก็ต้องพูดคุยกับผู้สูงอายุเพื่อให้เข้าใจขีดจำกัดของร่างกาย ลดความเสี่ยงในการใช้ชีวิต และอย่าลืมให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และแสดงความรักด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การกอด หอมแก้มท่านอยู่เสมอ เพื่อให้ท่านมีกำลังใจที่ดี เท่านี้ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุในบ้านมีสุขภาพดีทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจ และถ้าหากเราไม่สามารถดูแลได้ตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่มีโรคที่เสี่ยงต่อการเกินอันตราย การเลือกใช้บริการดูแลผู้สูงอายุก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าพิจารณา

บทความแนะนำ …