สรรพคุณของแปะก๊วย…รับประทานอย่างไรให้ปลอดภัย?

2122
สรรพคุณของแปะก๊วย

พูดถึงแปะก๊วยแล้ว หลายคนคงนึกถึงเมล็ดสีเหลืองๆ ที่มีในบ๊ะจ่าง รวมถึงขนมหวานอย่างแปะก๊วยนมสด แปะก๊วยน้ำขิง แปะก๊วยมะพร้าวอ่อน เป็นต้น แต่รู้หรือไม่ว่าสารสกัดจากใบแปะก๊วยนั้นมีสรรพคุณในการบำรุงร่างกายและบรรเทาอาการของโรคต่างๆ สูงมาก แต่ก็ต้องบริโภคอย่างระมัดระวังด้วย

แปะก๊วยคืออะไร?

แปะก๊วย (Ginkgo Biloba) คือ พืชสมุนไพรที่มีต้นกำเนิดในแถบประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น แปะก๊วยเป็นพืชยืนต้นขนาดใหญ่ ใบมีลักษณะคล้ายพัดจีน มีร่องลึกบริเวณกลางใบ ในฤดูผลัดใบ ใบจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองทองก่อนร่วงจากกิ่งทั้งต้นภายในเวลาไม่กี่วัน

ใบแปะก๊วยได้รับความนิยมในการนำมาสกัดและใช้เป็นยารักษาโรค เนื่องจากมีสารสำคัญ 2 กลุ่มคือ กลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ที่ช่วยต้านการเกิดอนุมูลอิสระ และ กลุ่มเทอร์พีนอยด์ (Terpinoidal Compound) ที่ช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อม ปัจจุบันมีจำหน่ายในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาแผนปัจจุบัน แต่ในบางประเทศต้องใช้ใบสั่งแพทย์เท่านั้นถึงสามารถซื้อมารับประทานได้ เพราะจัดว่าเป็นยาอันตรายชนิดหนึ่งหากใช้ไม่ถูกต้อง

ส่วนเมล็ดของใบแปะก๊วย นิยมนำมาประกอบอาหาร เช่น ขนมหวาน บ๊ะจ่าง เป็นต้น เรามักพบเห็นเมล็ดแปะก๊วยเป็นสีเหลือง แท้จริงแล้วมีเมล็ดแปะก๊วยมีเปลือกหุ้มสีขาว สมกับที่มีการเรียกชื่อว่าลูกไม้สีขาวหรือลูกไม้สีเงิน

แปะก๊วยมีสรรพคุณอย่างไร?

1. ต้านอนุมูลอิสระ

สารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ของใบแปะก๊วยมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยชะลอความแก่ และช่วยต้านการเกิดมะเร็งได้

2. กระตุ้นระบบหมุนเวียนเลือด

ใบแปะก๊วยช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงเซลล์ทั่วร่างกายได้ดีขึ้น จึงช่วยบรรเทาภาวะหลอดเลือดตีบหรือหดตัว ทำให้อาการชาปลายมือปลายเท้าลดลง รวมถึงป้องกันตะคริวได้ด้วยเพราะมีเลือดหมุนเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้ออย่างเพียงพอ

3. บรรเทาอาการโรคสมองเสื่อม บำรุงสมอง

จากผลวิจัย ผู้ป่วยสมองเสื่อมที่มีผลมาจากโรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคสมองเสื่อมอื่นๆ เมื่อรับประทานแปะก๊วยในปริมาณ 240 มิลลิกรัมต่อวันต่อเนื่องนานกว่า 1 ปี ช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แต่ไม่ถึงกับป้องกันไม่ให้อาการทรุดลงได้ เพียงช่วยต้านทานการขาดออกซิเจนในเนื้อเยื่อสมอง ยับยั้งการบาดเจ็บที่ทำให้สมองบวมและปกป้องเส้นประสาท

4. บรรเทาอาการโรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสันเกิดจากการขาดฮอร์โมนโดปามีน ซึ่งการรับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วยจะกระตุ้นการไหลเวียนเลือดไปยังสมอง ทำให้ผลิตฮอร์โมนโดปามีนที่ยับยั้งอาการของโรคพาร์กินสันได้มากขึ้น

5. บรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือนของผู้หญิง

อาการก่อนมีประจำเดือน หรือ อาการ PMS ที่จะทำให้อารมณ์แปรปรวน ฉุนเฉียวง่าย ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว เจ็บหน้าอก คัดเต้านม อาการเหล่านี้จะได้รับการบรรเทาลงเมื่อรับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วย

รับประทานแปะก๊วยอย่างไรให้ปลอดภัย?

1. ปริมาณที่ควรบริโภค

แม้แปะก๊วยจะมีสรรพคุณมากมาย แต่ยังถือเป็นยาอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทยจึงระบุข้อกำหนดในการใช้สารสกัดจากใบแปะก๊วย ดังนี้

  • การใช้สารสกัดแปะก๊วยสำหรับเป็นยาแผนปัจจุบัน มีขนาดรับประทานขนาดเม็ดละ 40 กรัม วันละ 3-4 เม็ด และต้องมีข้อบ่งใช้สำหรับผู้ที่เป็นโรคเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ การไหลเวียนเลือดผิดปกติ โรคหลอดเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน และการไหลเวียนเลือดบริเวณผิวหนังผิดปกติ
  • การใช้สารสกัดแปะก๊วยเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม มีขนาดรับประทานวันละไม่เกิน 120 มิลลิกรัม และต้องได้รับใบสำคัญการใช้ฉลากอาหาร และไม่มีการโฆษณาสรรพคุณในการบำบัดรักษาโรค

2. ผู้ที่ไม่ควรบริโภคใบแปะก๊วย

  • สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร เพราะยังไม่มีข้อมูลยืนยันแน่ชัดว่าปลอดภัยกับเด็กหรือไม่
  • เด็กและทารก ไม่ควรให้เด็กบริโภคเมล็ดแปะก๊วยสดเพราะอาจทำให้มีอาการชักและเสียชีวิตได้
  • ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ รวมถึงผู้ที่กำลังจะเข้ารับการผ่าตัด ควรงดแปะก๊วยอย่างน้อยเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพราะแปะก๊วยจะกระตุ้นให้เลือดออกมากขึ้น
  • ผู้ป่วยเบาหวาน อาจส่งผลรบกวนต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  • ผู้ที่เคยมีอาการชัก เพราะแปะก๊วยอาจทำให้เกิดอาการชักได้

3. ยาที่ห้ามรับประทานร่วมกับแปะก๊วย

ไม่ควรรับประทานแปะก๊วยร่วมกับยาชะลอการเกิดลิ่มเลือด เช่น ยาไอบูโปรเฟน และยาวาร์ฟาริน เพราะมีฤทธิ์ในการชะลอการเกิดลิ่มเลือดเหมือนกับแปะก๊วย

4. ผลข้างเคียง

การรับประทานแปะก๊วยอาจมีผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย กระสับกระส่าย มีผื่นแพ้ที่ผิวหนัง เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าแปะก๊วยเป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์มาก แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อควรระวังและผลข้างเคียงในการรับประทานมากเช่นกัน ดังนั้นหากต้องการรับประทานแปะก๊วยเป็นยาหรืออาหารเสริม ควรตระหนักถึงข้อควรระวังอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีนั่นเอง