การเลี้ยงเด็กทารกด้วยน้ำนม สามารถให้ได้ดื่มได้ทั้งน้ำนมแม่และนมผงสำหรับทารก อย่างไรก็ตาม ถึงนมผงจะมีการพัฒนาให้มีสารอาหารและแร่ธาตุเพื่อให้เทียบเท่าได้กับน้ำนมแม่ แต่การเลี้ยงทารกด้วยน้ำนมแม่ก็ยังมีประโยชน์มากกว่า ทั้งทางตรงและทางอ้อม ยิ่งแม่ให้นมลูกอย่างถูกวิธีก็ยิ่งได้ประโยชน์

ประโยชน์ของน้ำนมแม่
1. มีสารอาหารที่เหมาะสมกับทารก
น้ำนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น วิตามินและแร่ธาตุที่ทารกต้องการอย่างครบถ้วน ยิ่งในช่วง 2-3 วันหลังคลอด น้ำนมแม่จะมีโคลอสตรัม หรือน้ำนมเหลืองใสที่เรียกว่าหัวน้ำนมที่มีภูมิคุ้มกันมาก ช่วยต้านทานโรคได้หลายอย่าง และน้ำนมแม่ยังมีคุณสมบัติย่อยและดูดซึมได้ง่าย ทำให้ทารกมีอาการท้องอืดน้อยกว่า จึงจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารกในช่วง 6 เดือนแรก
2. ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อโรคต่างๆ
น้ำนมแม่มีสารภูมิคุ้มกันที่เคลือบเยื่อบุลำไส้ทำให้ไม่เกิดอาการแพ้ ลดการติดเชื้อในลำไส้ รวมทั้งลดความเสี่ยงโรคท้องผูกและท้องเสีย นอกจากนี้ยังมีสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อแลคโตบาซิลลัสซึ่งช่วยป้องกันแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรค
3. ช่วยพัฒนาสมอง
น้ำนมแม่มีกรดไขมันและสารอาหารที่ช่วยในการพัฒนาสมอง ทั้ง MFGM ที่เป็นเซลล์ส่วนที่ห่อหุ้มไขมันในน้ำนม และ DHA กรดไขมันจำเป็นในตระกูลโอเมก้า 3 เมื่อทำงานร่วมกันจะช่วยเสริมสร้างเซลล์สมอง และเพิ่มจุดเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ทำให้สมองเรียนรู้ได้มากขึ้น
ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
1. ดีต่ออารมณ์และจิตใจ
การป้อนน้ำนมแม่ผ่านเต้าจะช่วยให้ทารกได้รับการกอดจากแม่ เป็นการให้ความอบอุ่น ซึ่งทารกจะสัมผัสได้ถึงความอบอุ่น ส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจตั้งแต่เด็ก รวมทั้งร่างกายของแม่จะหลั่งออกซิโทซินซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความผูกพัน ทำให้รักและผูกพันกับลูกมากขึ้น
2. ช่วยให้สุขภาพของแม่ดีขึ้น
การให้ลูกดื่มนมแม่จะช่วยให้แม่ลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และโรคกระดูกพรุน
3. ประหยัดค่าใช้จ่าย
หากเลี้ยงลูกด้วยนมผงจะทำให้เสียค่านมผงเฉลี่ยเดือนละ 3,000 – 5,000 บาท ขณะที่น้ำนมแม่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ และผลประโยชน์ทางอ้อมคือลดการเจ็บป่วยของทารก ทำให้ลดเงินค่ารักษาได้
4. ลดน้ำหนักส่วนเกินของแม่
ระหว่างตั้งครรภ์ แม่จะมีน้ำหนักส่วนเกินเกิดขึ้นและอาจลดได้ยากหลังคลอด ซึ่งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีส่วนช่วยในการลดน้ำหนัก และทำให้มีรูปร่างสมส่วนเร็วขึ้น
5. ไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์ให้ยุ่งยาก
ช่วงหลังคลอด แม่มักจะมีน้ำนมพร้อมให้ลูกดื่มอยู่ตลอด จึงไม่ต้องคอยชงนมผงใส่ขวดนม และปัจจุบัน ที่ทำงานบางแห่ง และห้างสรรพสินค้ามักจะมีห้องสำหรับให้แม่ให้นมลูกโดยเฉพาะ

วิธีการให้นมลูกที่ถูกต้อง
ท่าให้นมลูก
โดยส่วนมากจะเป็นการนั่งให้นมลูก ซึ่งต้องนั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักพิง โดยท่านั่งที่สบายของแม่แต่ละคนจะแตกต่างกันไป การอุ้มลูกต้องให้ศีรษะ ไหล่ และลำตัวของลูกอยู่ในแนวตรง ซึ่งท่าอุ้มจะมีหลายแบบ เช่น
- ท่านั่งอุ้มเห่กล่อม ท่านี้จะต้องอุ้มลูกวางนอนขวางบนตัก ใช้มือและแขนโอบให้ลูกตะแคงเข้าหาแม่ ท้ายทอยของลูกอยู่บริเวณแขน
- ท่าอุ้มลูกฟุตบอล แม่ต้องกอดลูกให้กระชับสีข้างของตนเอง ขาของลูกชี้ไปด้านหลัง ใช้มือประคองต้นคอลูกไว้และให้ลูกดูดน้ำนมจากข้างเดียวกันกับที่ใช้มือประคองลูก
- ท่านอนตะแคงเข้าหากัน ท่านี้ทั้งแม่และลูกนอนหันหน้าเข้าหากัน ใช้มือข้างหนึ่งประคองศีรษะลูกให้ชิดลำตัวแม่ และมืออีกข้างประคองเต้านมให้ลูกดื่ม
ช่วงเวลาในการให้นมลูก
- ชั่วโมงแรกๆ หลังคลอด การให้ลูกดื่มนมตั้งแต่หลังคลอด จะช่วยให้ลูกรู้จักการดื่มนมได้ถูกต้องมากกว่า และจะช่วยกระตุ้นให้น้ำนมแม่มาเร็วกว่า
- ช่วงแรกเกิดถึง 1 เดือน ควรให้ลูกดื่มนมแม่อย่างน้อย 8 ครั้งในเวลา 24 ชั่วโมง หรือโดยเฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อครั้ง เมื่ออายุมากขึ้น ลูกจะปรับตัวมาดื่มนมในช่วงกลางวันมากกว่ากลางคืนและดื่มนมแต่ละครั้งมากขึ้น
สัญญาณที่รู้ว่าให้ลูกดื่มนมถูกวิธี
- แม่จะไม่เจ็บเต้านม เพราะลูกไม่ต้องพยายามเอี้ยวศีรษะเข้าหาหรือใช้ปากดึงหัวนม
- ขณะลูกดื่มนมจะแก้มป่อง ได้ยินเสียงกลืนเป็นจังหวะ
- ลูกอมลานนมด้านล่างได้มากกว่าด้านบน
สิ่งที่ควรทำหลังลูกดื่มนมเสร็จ
- ถ้าลูกหยุดดื่มนมโดยที่นมยังไม่หมดเต้า ควรกระตุ้นให้ลูกดื่มต่อจนนมหมดเต้า
- ทำให้ลูกเรอทุกครั้งหลังดื่มนม เพราะจะทำให้สบายตัว ไม่แหวะนม และไม่หงุดหงิดง่าย
- ในการให้นมครั้งต่อไป ควรให้นมลูกจากเต้านมอีกข้างสลับกันไป เพื่อให้เต้านมได้รับการกระตุ้นสร้างน้ำนมที่เท่ากัน
น้ำนมแม่นั้นมีประโยชน์มากมายสำหรับทารกทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งการให้นมลูกอย่างถูกต้อง จะทำให้แม่ไม่ต้องเจ็บเต้านม ตัวลูกเองก็จะได้ดื่มนมอย่างเต็มอิ่ม การเจริญเติบโตและพัฒนาการเป็นไปได้ดี นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มความรักความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแม่ลูกอีกด้วย ยกเว้นแม่มีอาการเจ็บป่วยจนแพทย์พิจารณาให้ลูกดื่มนมผงแทน