สรรพคุณของเห็ดหลินจือ…รับประทานอย่างไรให้ปลอดภัย?

599
สรรพคุณของเห็ดหลินจือ

เห็ดหลินจือเป็นสมุนไพรจีนชนิดหนึ่ง มีสรรพคุณทางยาสูงมากจนมีการนำมาใช้ในการรักษา และบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่างๆ อย่างแพร่หลาย ยิ่งในปัจจุบันที่เทคโนโลยีพัฒนาขึ้นมาก จึงมีการสกัดเห็ดหลินจือให้ได้สารสกัดที่มีความเข้นข้นสูง ร่างกายดูดซึมได้ง่าย ไปดูกันดีกว่าเราสามารถบริโภคในรูปแบบใดได้บ้าง และมีสรรพคุณที่น่าสนใจอย่างไร

เห็ดหลินจือคืออะไร?

เห็ดหลินจือ คือ เห็ดที่มีขนาดใหญ่ สีเข้ม ผิวมันวาว รสขม มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศจีน เป็นเห็ดที่ได้รับการนำมาใช้เป็นยารักษาโรคมานานกว่า 4,000 ปี เนื่องจากมีสรรพคุณทางยามากมายและถูกขนานามว่าเป็นหนึ่งในยาอายุวัฒนะจนได้รับการยกย่องให้เป็นสมุนไพรชั้นสูง และมีการบันทึกไว้ในตำรา “เสินหนงเปิ่นฉ่าวจิง” ว่าเป็น “เทพเจ้าแห่งชีวิต” เห็ดหลินจือมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่นิยมที่สุดเพราะมีสรรพคุณทางยามากที่สุดคือ เห็ดหลินจือแดง (Ganoderma Lucidum)

การบริโภคเห็ดหลินจือเป็นยาในปัจจุบัน สามารถบริโภคได้หลายวิธี ดังนี้

1. สารสกัดเห็ดหลินจือ

สารสกัดเห็ดหลินจือมีสรรพคุณทางยามากที่สุดเพราะผ่านกรรมวิธีการสกัดที่ดึงประโยชน์ออกมามากที่สุด ทั้งรูปแบบสารสกัดทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมและย่อยสลายได้ง่าย อีกทั้งสารสกัดจะถูกบรรจุในแคปซูล ทำให้บริโภคได้ง่าย

2. เห็ดหลินจือบดแห้ง

วิธีนี้ทำได้ง่ายและต้นทุนต่ำ คือนำเห็ดหลินจือมาบดแห้งบรรจุแคปซูลแล้วบริโภค แต่ข้อเสียคือจะย่อยยาก และร่างกายดูดซึมสารสกัดจากเห็ดหลินจือได้ยาก

3. น้ำเห็ดหลินจือ

วิธีทำคือนำเห็ดหลินจือฝานเป็นชิ้นแล้วต้มในน้ำ สารที่มีคุณประโยชน์จะละลายอยู่ในน้ำประมาณหนึ่ง ซึ่งต้องดื่มเป็นปริมาณมากจึงจะได้รับประโยชน์

4. ยาสปอร์เห็ดหลินจือ

สปอร์เห็ดหลินจือมีสรรพคุณยาเข้มข้นมาก แต่ต้องผ่านการกะเทาะเปลือกก่อนนำมาสกัดเพราะร่างกายไม่สามารถย่อยเปลือกสปอร์ได้

เห็ดหลินจือมีสรรพคุณอย่างไร?

1. ปกป้องตับจากสารพิษ ลดการทำลายเซลล์ตับ

เพราะมีสารโพลีแซกคาไรด์และสารไตรเทอร์พีนอยด์ที่ช่วยลดปฏิกริยาออกซิเดชั่นในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุที่เซลล์ตับถูกทำลาย

2. ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

จากงานวิจัยที่ผู้ป่วยโรคนี้จำนวน 32 ราย มีผลลัพธ์ว่าช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้โดยไม่มีผลข้างเคียง

3.ป้องกันโรคเบาหวาน

เพราะเห็ดหลินจือมีสารคุณสมบัติช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

4. ช่วยชะลอความแก่

เพราะสารอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุของความแก่จะถูกทำลายและยับยั้งการสร้างด้วยสารโพลีแซกคาไรด์และสารไตรเทอร์พีนอยด์

5. กระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด

ด้วยสารประกอบเจอมาเนียมในเห็ดหลินจือ ทำให้ระบบไหลเวียนเลือด สมอง และหัวใจ ทำงานดีขึ้น และช่วยลดระดับไขมันในเลือดด้วย

6. ช่วยให้ผู้ติดเชื้อ HIV แข็งแรงขึ้น

เพราะเห็ดหลินจือช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้ปกติ

7. ช่วยให้การทำคีโมของผู้ป่วยมะเร็งได้ผลดีขึ้น

เพราะสารโพลีแซคคาไรด์และสารไตรเทอร์พีนอยด์ในเห็ดหลินจือช่วยลดการลุกลามของเซลล์มะเร็ง

รับประทานเห็ดหลินจืออย่างไรให้ปลอดภัย?

1. ปริมาณที่ควรบริโภค

ปริมาณเห็ดหลินจือที่ควรบริโภคต่อวัน มีดังนี้

  • เห็ดหลินจืออบแห้ง 1.5-9 กรัม
  • ผงสกัดเห็ดหลินจือ 1-1.5 กรัม
  • สารละลายเห็ดหลินจือ 1 มิลลิลิตร

2. ผลข้างเคียง

การบริโภคในสัปดาห์แรกอาจมีผลข้างเคียง คือ คลื่นไส้ เป็นหัว ปวดเมื่อย ง่วงนอน เนื่องจากเห็ดหลินจือกำลังปรับสมดุลในร่างกาย แต่ถ้ามีอาการมากควรหยุดบริโภค เช่น ท้องไส้ปั่นป่วน ถ่ายเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล เป็นต้น

3. ระยะเวลาในการบริโภค

การบริโภคเห็ดหลินจือในรูปแบบผงสกัด ไม่ควรบริโภคติดต่อกันนานเกิน 1 เดือน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตับได้

4. ผู้ที่ไม่ควรบริโภคเห็ดหลินจือ

  • สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้
  • ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรงดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนวันผ่าตัด เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออก
  • ผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำ เพราะมีสรรพคุณลดไขมันในเส้นเลือด
  • ผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เพราะอาจเพิ่มภาวะเลือดออก
  • ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เพราะอาจกระตุ้นอาการให้หนักมากขึ้น

จากสรรพคุณอันหลากหลายและมีประโยชน์ของเห็ดหลินจือ ทำให้หลายๆ คนคงเริ่มสนใจไปหามารับประทานเพื่อบำรุงร่างกายและรักษาโรค อย่างไรก็ตาม ร่างกายของบางคนอาจไม่เหมาะกับการบริโภคเห็ดหลินจือ เช่น เกิดอาการแพ้ หรือเป็นโรคที่ไม่เหมาะกับการบริโภค ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภคจะดีที่สุด