ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร? เกิดจากอะไร…จะป้องกันตัวเราได้อย่างไร?

415
ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร?

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยต้องเผชิญกับมลภาวะทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 จนทำให้ต้องใส่หน้ากากกันฝุ่นออกจากบ้าน บางคนถึงกับไม่สบายเมื่อฝุ่น PM 2.5 มาเยือน ถือได้ว่าฝุ่น PM 2.5 เป็นภัยตัวร้ายสำหรับโรคภัยทีเดียว ดังนั้นเราต้องทำความรู้จักกับ PM 2.5 ให้มากขึ้นว่าคืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไร และจะป้องกันอย่างไรได้บ้าง

ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร?

ฝุ่น PM 2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็ก ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หมายความว่าถ้าเส้นผมมีขนาด 25 ไมครอน ฝุ่น PM 2.5 จะมีขนาดเล็กกว่าถึง 10 เท่า และด้วยขนาดที่เล็กมาก ทำให้ฝุ่นลอยอยู่ในอากาศได้นานกว่าฝุ่นชนิดอื่นๆ และยังทำให้ขนจมูกที่ทำหน้าที่กรองฝุ่นนั้นไม่สามารถกรองได้ ทั้งนี้ฝุ่น PM 2.5 ปะปนกับสารอันตราย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก และสารก่อมะเร็งอื่นๆ ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะแพร่เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ กระแสเลือด ส่งต่อไปยังอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายได้

สาเหตุของฝุ่น PM 2.5

สาเหตุของฝุ่น PM 2.5

ฝุ่นทั่วไปที่เราเคยเห็นตามสถานที่รกร้าง หรือบนเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ได้ทำความสะอาดเป็นเวลานาน มักเป็นฝุ่นละอองจากดินที่ล่องลอยเข้ามาในบ้าน นานวันเข้าก็ยิ่งจับตัวหนาขึ้นจนเห็นได้ชัดนั่นเอง ซึ่งฝุ่น PM 2.5 มีที่มาที่แตกต่างจากฝุ่นทั่วไป โดยมาจากสองแหล่งกำเนิดใหญ่ๆ คือ

1. แหล่งกำเนิดโดยตรง

ส่วนใหญ่จะเกิดจากกระบวนการเผาไหม้ที่ทำให้เกิดก๊าซ กระบวนการผลิตในโรงงาน เช่น การเผาในที่โล่ง การคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมการผลิต

2. การรวมตัวของก๊าซอื่นๆ ในบรรยากาศ

โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) รวมทั้งสารพิษอื่นๆ ที่ล้วนเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ เช่น สารปรอท (Hg), แคดเมียม (Cd), อาร์เซนิก (As) หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs)

อันตรายจากฝุ่น PM 2.5

1. อันตรายต่อสุขภาพเบื้องต้น

อันตรายเบื้องต้นมักจะแสดงออกมาทางระบบทางเดินหายใจ คือ จมูก ปาก โดยมีอาการไอ จาม มีน้ำมูก และจะมีอาการเคืองตา  ปวดศีรษะ เหนื่อยง่าย เวียนหัว

2. อันตรายต่อปอดและทางเดินหายใจ

อาจทำให้เกิดโรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด

3. อันตรายต่อระบบหัวใจ

ฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กจนสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ จึงสามารถเข้าไปสะสมภายในหลอดเลือด เข้าสู่หัวใจ และทำให้เกิดภาวะหัวใจทำงานผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย

4. อันตรายต่อสมอง

ฝุ่นละอองขนาดเล็กจะเกิดการสะสมในร่างกายและมีผลในระยะยาว เพิ่มความเสี่ยงภาวะหลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัว ส่งผลให้เกิดลิ่มเลือดในสมองได้

ทั้งหมดนี้คืออันตรายจากฝุ่น PM 2.5 ที่สามารถเกิดกับคนทั่วไปได้ แต่สำหรับคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ กลุ่มโรคเกี่ยวกับภูมิแพ้ที่ตา กลุ่มสภาพร่างกายพื้นฐานไม่แข็งแรง ขาดสารอาหาร ป่วยเป็นโรคมะเร็งหรือป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ต้องระวังอันตรายจาก PM 2.5 เป็นพิเศษ เพราะจะเกิดอาการที่รุนแรงกว่า และอาจเกิดอาการแทรกซ้อนจนรุนแรงถึงชีวิต

วิธีป้องกันฝุ่น PM 2.5

วิธีป้องกันฝุ่น PM 2.5

เมื่อออกนอกบ้าน

  • สวมใส่หน้ากากกันฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะ คือ หน้ากาก N95
  • สวมหน้ากากอนามัยธรรมดาธรรมดาที่มีฟิลเตอร์รองรับ PM 2.5
  • สวมหน้ากากอนามัยธรรมดา 2 ชั้น หรือสวมหน้ากาก 1 ชั้นแล้วซ้อนทิชชู่ไว้ด้านใน
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิด เช่น ออกกำลังกาย

เมื่ออยู่ภายในอาคาร

  • ปิดหน้าต่างให้มิดชิดเพื่อลดฝุ่นที่จะลอยเข้ามา
  • ระวังการเปิดปิดประตูหน้าต่างบ่อยๆ เพราะจะทำให้ฝุ่นเล็ดลอดเข้ามาได้ง่าย
  • ใช้เครื่องฟอกอากาศ เพราะต่อให้ปิดหน้าต่างมิดชิด ไม่เปิดปิดประตูหน้าต่างบ่อยๆ ฝุ่นก็ยังเล็ดลอดเข้ามาได้อยู่ดี ฉะนั้นถ้าอยากให้บ้านปราศจากฝุ่นขนาดเล็ก ควรใช้เครื่องฟอกอากาศรุ่นสำหรับกรอง PM 2.5 โดยเฉพาะ

ฝุ่น PM 2.5 มักจะมาโดยไม่มีสัญญาณเตือน และสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กก็เป็นสิ่งที่แก้ได้ยาก เพราะต้องค่อยๆ ใช้เวลาในการแก้ปัญหาระยะยาว ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก็คือทำความเข้าใจกับปัญหาและเผยแพร่ความรู้ต่อๆ กันเพื่อที่จะได้รู้วิธีป้องกันอย่างถูกต้อง ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อร่างกายลงได้บ้าง

อ้างอิง: PM2.5 คืออะไร? อันตรายและการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก