โรคซึมเศร้า (Depression) คืออะไร? มีสาเหตุจากอะไร รักษาได้อย่างไร?

615
โรคซึมเศร้า (Depression)

โรคซึมเศร้า หรือภาวะซึมเศร้า (Depression) เพิ่งเป็นที่รู้จักและคุ้นหูคนไทยเมื่อไม่นานมานี้เอง ซึ่งหลายๆ คนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในโรคนี้ดี และคิดว่าภาวะเศร้าสามารถหายได้ด้วยตนเอง แท้จริงแล้วโรคซึมเศร้าเหมือนโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ ไปทำความรู้จักกันดีกว่าว่าโรคซึมเศร้าคืออะไร ต่างกับภาวะเศร้าธรรมดาอย่างไร มีสาเหตุมาจากอะไร และรักษาได้อย่างไร?

โรคซึมเศร้าคืออะไร?

โรคซึมเศร้า ทางการแพทย์เรียกว่า Clinical Depression เป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลกันของสารสื่อประสาทในสมองคือ ซีโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) รวมไปถึงเซลล์รับสื่อเคมีเหล่านี้อาจมีความผิดปกติ ส่งผลต่อความนึกคิด อารมณ์ ความรู้สึก รวมถึงพฤติกรรมและสุขภาพด้วย โรคซึมเศร้าสามารถแบ่งได้เป็น 3 ชนิด ดังนี้

1. โรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง (Major Depression)

โรคซึมเศร้าชนิดนี้จะมีภาวะเศร้าที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เช่น การทำงาน การกิน การเรียน การนอนหลับ และรบกวนเรื่องที่เป็นความสุขในชีวิต เช่น การดูหนัง ฟังเพลง อาจเกิดเป็นครั้งคราวแล้วหายไป แต่ก็เกิดขึ้นได้บ่อย ติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์

2. โรคซึมเศร้าชนิดเรื้อรัง (Dysthymia หรือ Persistent Depressive Disorder)

โรคซึมเศร้าชนิดเรื้อรังจะเป็นต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี แต่ส่วนใหญ่มักเป็นยาวนานกว่า 5 ปี อาการทางอารมณ์จะไม่รุนแรงนัก แต่บางครั้งก็มีอาการแบบโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรงร่วมด้วย อาการของโรคซึมเศร้าชนิดเรื้อรัง มีดังต่อไปนี้ โดยมักมีอาการอย่างน้อย 2 อาการ

  • รับประทานอาหารได้น้อยลงหรือมากขึ้น
  • นอนหลับมากขึ้น หรือนอนไม่หลับ
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • ไม่รู้สึกถึงคุณค่าของตนเอง
  • ไม่ค่อยมีสมาธิ ตัดสินใจอะไรไม่ค่อยได้
  • รู้สึกสิ้นหวัง ตามเกณฑ์การวินิจฉัยจากคู่มือการวินิจฉัยความผิดปกติทางจิตที่จัดทำโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (DSM-V)

3. โรคซึมเศร้าชนิดอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder หรือ Manic-depressive Illness)

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าชนิดอารมณ์สองขั้วจะมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างรุนแรงสลับไปมาระหว่างสองขั้ว คือ ช่วงอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania) เป็นช่วงที่มีพลังเหลือล้น คึกคักเกินเหตุ พูดมากกว่าที่เคย กระฉับกระเฉง อาจมีการใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย หรือตัดสินใจผิดๆ กับช่วงภาวะซึมเศร้า (Depression) ที่มีอาการเศร้า รวมถึงอาจมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย

อาการของโรคซึมเศร้า

1. ด้านความคิด

มองโลกในแง่ลบ รู้สึกสิ้นหวัง รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า มองไม่เห็นทางแก้ไข คิดทำร้ายตัวเอง คิดเรื่องความตาย ไปจนถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย

2. ด้านอารมณ์

รู้สึกเศร้า กังวล สลับกับอารมณ์หงุดหงิด กระวนกระวาย

3. ด้านพฤติกรรม

ประสิทธิภาพในการทำงานลดน้อยลง ไม่ค่อยมีสมาธิ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ไม่มีความสนุกกับการทำงานอดิเรกหรือกิจกรรมต่างๆ อารมณ์ทางเพศน้อยลง รู้สึกอ่อนเพลีย ความจำและการตัดสินใจแย่ลง บางคนนอนไม่หลับ ขณะที่บางคนนอนมากเกินไป บางคนเบื่ออาหาร ขณะที่บางคนรับประทานมากกว่าปกติจนน้ำหนักเพิ่ม

4. ด้านสุขภาพ

อาจมีอาการปวดศีรษะ แน่นท้อง

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

1. กรรมพันธุ์

กรรมพันธุ์เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคซึมเศร้า หากมีคนในครอบครัวเช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้

2. สารเคมีในสมอง

สารในสมอง คือ ซีโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) ลดต่ำลง รวมถึงเซลล์รับสื่อเคมีเหล่านี้อาจผิดปกติ ซึ่งทุกส่วนทำงานสัมพันธ์กัน ถ้าบกพร่องก็จะเสียสมดุล

3. ลักษณะนิสัย

คนที่ชอบมองโลกในแง่ลบ มองแต่ความบกพร่องของตนเอง ความมั่นใจในตัวเองต่ำหรือสูงเกินไป เมื่อเจอสถานการณ์กดดันก็มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่ายกว่าคนทั่วไปหรือคนที่มองโลกในแง่บวก

4. การเผชิญปัญหาชีวิต

ไม่ว่าจะปัญหาการเงิน ความสัมพันธ์ ความรุนแรง การสูญเสีย ก็เพิ่มโอกาสในการเป็นโรคซึมเศร้าได้ โดยเฉพาะกับเรื่องที่หาทางออกไม่ได้

5. การติดแอลกอฮอล์

การดื่มแอลกอฮอล์หรือการใช้สารเสพติดอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าตามมา

6. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

สตรีมีครรภ์ หรือผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์ผิดปกติอาจเป็นโรคซึมเศร้าได้

วิธีการรักษาโรคซึมเศร้า

การรักษาโรคซึมเศร้าในปัจจุบันมี 3 วิธีหลักๆ

  1. การใช้ยาต้านซึมเศร้า (Antidepressants)
  2. การพูดคุยบำบัดทางจิต (Psychotherapy)
  3. การกระตุ้นเซลล์สมองและประสาท (Brain Stimulation Therapies)

เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษา เริ่มแรกต้องพูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อประเมินอาการ จากนั้นถ้าได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า จิตแพทย์จะพูดคุยบำบัดทางจิต และจ่ายยาที่เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับยาขนาดที่ต่ำก่อน และติดตามผลการรักษาทุก 1-2 สัปดาห์ ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนชนิด หรือขนาดของยา เพื่อให้เหมาะสมกับตัวผู้ป่วยและได้ผลลัพธ์ในการรักษาที่ดี โดยอาจต้องรับประทานยาต่อเนื่อง 4-6 เดือน ในกรณีที่มีอาการรุนแรง อาจต้องใช้การกระตุ้นเซลล์สมองและประสาทภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ จากนั้นจึงใช้ยาและพูดคุยบำบัดควบคู่กันไป

โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคไกลตัว ควรหมั่นสังเกตอาการของตนเองว่ามีภาวะผิดปกติหรือไม่ ถ้ารู้สึกซึมเศร้า ไม่มีสมาธิในการทำงาน ไม่มีความสุขในกิจกรรมที่เคยสนุกนานติดต่อกันเกินไป การไปพบจิตแพทย์เพื่อหาสาเหตุและหาหนทางแก้ไขเป็นทางเลือกที่ดี และควรหมั่นสังเกตคนใกล้ชิดด้วยว่ามีอาการผิดปกติเหล่านี้หรือไม่ จะได้เข้าให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที

บทความแนะนำ ...