คอลลาเจน (Collagen) ช่วยบำรุงผิว!…บริโภคอย่างไรให้ปลอดภัย?

452
คอลลาเจน (Collagen)

คอลลาเจน (Collagen) ได้รับการนำมาใช้ในวงการความสวยความงามอย่างแพร่หลาย เพราะมีสรรพคุณในการช่วยลดริ้วรอย ทำให้ผิวพรรณเรียบเนียน เต่งตึง และมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกข้อต่อด้วย เราสามารถบริโภคคอลลาเจนได้หลากหลายวิธี เช่น การรับประทาน การฉีดเข้าผิวหนัง ซึ่งได้ผลลัพธ์แตกต่างกันไปในแต่ละคน

คอลลาเจนคืออะไร?

คอลลาเจน (Collagen) คือ เส้นใยโปรตีนชนิดหนึ่ง มีปริมาณประมาณ 30-40% ของโปรตีนในร่างกาย เป็นส่วนประกอบของผิวหนัง เส้นผม เล็บ รวมถึงกระดูกและกระดูกอ่อน คอลลาเจนเป็นสารในกลุ่มพอลิเพปไทด์ (Polypeptide) ประกอบด้วยกรดอะมิโน ช่วยทำให้ผิวหนังมีความเต่งตึง ยืดหยุ่น เส้นผมและเล็บมีความสมบูรณ์แข็งแรง และสามารถนำไปรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมและผู้ที่มีภาวะกระดูกบางหรือกระดูกเปราะด้วย

ร่างกายสามารถได้รับคอลลาเจนผ่านการบริโภคอาหารที่มีคอลลาเจน รวมถึงร่างกายสามารถสร้างคอลลาเจนได้เองด้วย แต่เมื่อมีอายุมากขึ้นตั้งแต่ประมาณอายุ 20 ปีขึ้น การสร้างคอลลาเจนจะลดลงเรื่อยๆ ยิ่งเป็นผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ สูบบุหรี่ มีความเครียด ก็จะทำให้คอลลาเจนถูกทำลาย ผิวหนังหย่อนคล้อย เกิดปัญหาข้อต่อ ดังนั้นจึงต้องรับประทานอาหารที่มีคอลลาเจนเป็นส่วนประกอบมากขึ้น

อาหารที่มีคอลลาเจนเป็นส่วนประกอบ คือ อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ปลาโดยเฉพาะปลาทะเลน้ำลึก เช่น แซลมอน ทูน่า และพืชผัก เช่น สาหร่ายทะเล เห็ดบางชนิด ผักใบเขียวเช่น ผักโขม ผักปวยเล้ง คะน้า บล็อคโคลี่ ถั่วเหลือง ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เป็นต้น รวมทั้งอาหารเสริมที่ทำมาจากหนังปลา เกล็ดปลา หนังวัว หนังหมู กระดูกวัว เป็นต้น

ทั้งนี้ คอลลาเจนมีมากถึง 13 ชนิดโดยเรียงตามลำดับกรดอะมิโน แต่คอลลาเจนชนิดหลักๆ ที่รู้จักกันโดยทั่วไป มีดังนี้

  1. คอลลาเจน type I พบในบริเวณหนัง เอ็น และกระดูก ประกอบไปด้วยกรดอะมิโนไกลซีน ฮิสติดีนและไทโรซีน
  2. คอลลาเจน type II พบในกระดูกอ่อน มีปริมาณไฮดรอกซีไลซีนสูงกว่าชนิด type I มากกว่าถึง 3 เท่า
  3. คอลลาเจน type III พบในเส้นเลือด เป็นคอลลาเจนที่มีปริมาณน้อย มักพบปะปนกับคอลลาเจนชนิด type I
  4. คอลลาเจน type IV พบได้เฉพาะในเส้นใยฝอยของเยื่อแผ่นบางๆ บริเวณนอกเซลล์

คอลลาเจนมีประโยชน์อย่างไร?

1. ดีต่อข้อต่อ

คอลลาเจน type II เป็นคอลลาเจนที่ช่วยบำรุงกระดูก สามารถดูดซึมผ่านลำไส้ไปสะสมที่กระดูกอ่อนได้ ทำให้ช่วยลดอาการอักเสบ และอาการเจ็บปวดจากการเคลื่อนไหวในบริเวณเซลล์กระดูกอ่อนของข้อต่างๆ

2. ดีต่อผิวพรรณ เล็บ และเส้นผม

คอลลาเจนช่วยให้ผิวมีความยืดหยุ่น เรียบเนียน ทำให้เล็บและเส้นผมแข็งแรงสมบูรณ์ขึ้น และยังช่วยป้องกันฝ้า กระ เนื่องจากคอลลาเจนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของระบบหมุนเวียนโลหิตโดยเฉพาะหลอดเลือดเล็ก จึงช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดฝ้าและกระ

บริโภคคอลลาเจนอย่างไรให้ปลอดภัย?

1. การรับประทานอาหาร

รับประทานอาหารที่มีคอลลาเจน และกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน เช่น

  • น้ำซุปเนื้อสัตว์
    น้ำซุปกระดูกมีโปรตีนที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ทันที น้ำซุปเนื้อวัวมีคอลลาเจน Type I ที่บำรุงผิวพรรณ และน้ำซุปไก่และน้ำซุปไก่งวง มีคอลลาเจน Type II ที่ช่วยบำรุงข้อต่อ
  • ปลาแซลมอน
    ปลาแซลมอนมีซิงค์และแร่ธาตุที่ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน
  • ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่
    ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ มีกรดเอลลาจิก ช่วยปกป้องรังสียูวีที่ทำให้คอลลาเจนสลายตัว
  • ผลไม้ตระกูลส้ม
    ผลไม้ตระกูลส้มมีวิตามินซี ที่ช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจน
  • ผักใบเขียว
    ผักใบเขียวมีคลอโรฟิลด์ที่ช่วยเพิ่มปริมาณคอลลาเจนในผิวหนัง และปกป้องผิวจากรังสียูวี
  • มะเขือเทศ
    มะเขือเทศประกอบด้วยไลโคปีนที่ช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวี และช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน
  • อะโวคาโด
    อะโวคาโดมีวิตามินอีสูง ที่ช่วยป้องกันการสลายของคอลลาเจนในร่างกาย
  • ไข่
    ร่างกายสามารถรับคอลลาเจนได้โดยตรงจากไข่แดง และกำมะถันหรือซัลเฟอร์ในไข่จะช่วยผลิตคอลลาเจนและช่วยล้างตับ ซึ่งส่งผลให้ล้างสารพิษที่ทำลายคอลลาเจนไปด้วย
  • เมล็ดฟักทอง
    เมล็ดฟักทองอุดมด้วยซิงค์ที่ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาจีน และชะลอการสลายตัวของโปรตีน
  • กระเทียม
    กำมะถันหรือซัลเฟอร์ในกระเทียมจะช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน และมีสารทอรีนที่ช่วยปกป้องคอลลาเจนไม่ให้ได้รับความเสียหาย
  • ดาร์กช็อกโกแลต
    ดาร์กช็อกโกแลตมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยในการสร้างคอลลาเจน

ข้อควรระวัง :

  • ต้องรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ เช่น การรับประทานไข่ ไม่ควรรับประทานเกิน 2 ฟองต่อวัน เพราะอาจได้รับคอเลสเตอรอลสูงเกินความต้องการของร่างกาย
  • คอลลาเจนไม่ได้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายนำไปใช้ได้โดยตรง โปรตีนคอลลาเจนจะถูกย่อยเป็นกรดอะมิโนก่อนจะนำไปสังเคราะห์เป็นคอลลาเจนในร่างกาย แต่ก็มีแนวโน้มที่ร่างกายจะนำกรดอะมิโนไปใช้งานอย่างอื่น ดังนั้นจึงต้องรับประทานวิตามินซีและธาตุเหล็กที่ช่วยในการสังเคราะห์คอลลาเจนด้วย

2. การรับประทานอาหารเสริมคอลลาเจน

การเลือกซื้ออาหารเสริมคอลลาเจนต้องมีระบุว่าเป็น คอลลาเจนเปปไทด์ขนาดโมเลกุลเล็ก เพื่อให้ดูดซึมได้ดี การรับประทานอาหารเสริมคอลลาเจน ไม่ว่าจะแบบผงที่ผสมชงกับน้ำดื่ม หรือแบบชนิดเม็ด มีส่วนช่วยในการทำให้สุขภาพผิวดีขึ้น โดยชนิดผงละลายน้ำจะดูดซึมได้เร็วกว่า แต่ผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับรายบุคคล เนื่องจากโครงสร้างผิวและการเลือกรับประทานอาหารที่แตกต่างกัน และถ้าอยากทราบว่าการรับประทานอาหารเสริมคอลลาเจนส่งผลที่ดีต่อร่างกายของเราหรือไม่ ต้องรับประทานอย่างน้อยติดต่อกัน 2 เดือนจึงจะเห็นผลลัพธ์

ข้อควรระวัง :

  • อาจเกิดอาการแพ้ได้ โดยเฉพาะผู้ที่แพ้อาหารทะเล เนื่องจากอาหารเสริมคอลลาเจนบางชนิดสกัดจากเกล็ดหรือผิวหนังปลา รวมไปถึงแมงกะพรุนและหอย
  • ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ เพราะอาจส่งผลให้ไตที่มีหน้าที่ดูดซึมโปรตีน ต้องมาดูดซึมโปรตีนจากคอลลาเจนและทำงานหนักเพิ่มมากขึ้น รวมถึงอาจได้รับแคลเซียมมากเกินไปหากเป็นคอลลาเจนที่สกัดจากอาหารทะเล

3. การฉีดคอลลาเจน

การนำสารเติมเต็มมาฉีดให้กับผิวหนังโดยเฉพาะบริเวณผิวหน้าเพื่อให้ผิวมีความเต่งตึง ลดริ้วรอย เรียกว่าการฉีดฟิลเลอร์ (Filler Injection) โดยสารที่ใช้ในการฉีดฟิลเลอร์มีหลายชนิด เช่น กรดไฮยาลูโรนิก กรดโพลีแอลแลคติก สารฟิลเลอร์จากไขมันในร่างกายคนไข้เอง และคอลลาเจน ซึ่งการฉีดคอลลาเจนนั้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และสามารถอยู่ได้เพียง 3-4 เดือนก็ต้องมาฉีดซ้ำอีกครั้ง ถือว่ามีระยะเวลาคงอยู่ที่สั้นกว่าฟิลเลอร์ชนิดอื่นๆ

ข้อควรระวัง :

  • การฉีดคอลลาเจนต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่เชื่อถือได้
  • คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังไม่อนุญาตให้ใช้ฟิลเลอร์คอลลาเจนได้อย่างถูกกฎหมาย โดยฟิลเลอร์ที่ได้รับการรับรองมีเพียงชนิดเดียวคือกรดไฮยาลูโรนิก

4. การทาผลิตภัณฑ์บำรุงผิว

การทาครีมคอลลาเจนจะช่วยฟื้นฟูผิวในส่วนของผิวหนังชั้นบนหรือผิวหนังชั้นกำพร้า ช่วยให้ผิวมีความอ่อนนุ่มขึ้น และลดอัตราการสูญเสียน้ำของผิว แต่ไม่สามารถซึมลึกสู่ผิวหนังชั้นที่ลึกกว่านั้นเนื่องจากมีโมเลกุลใหญ่เกินไป จึงไม่สามารถลบริ้วรอยได้ แค่รักษาความชุ่มชื้น ไม่ทำให้ผิวแห้งกร้าน ลดอัตราการเกิดริ้วรอยเท่านั้น

ข้อควรระวัง :

  • อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่น อาการคัน มีผื่นแดง เนื่องจากแพ้สารที่นำมาสกัด เช่น อาหารทะเล เป็นต้น

การบริโภคคอลลาเจน (Collagen) เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผิวพรรณมีสุขภาพดีขึ้น บางคนอาจได้ผลลัพธ์ที่ดีมาก บางคนอาจไม่เห็นผลชัดเจนนัก เนื่องจากมีโครงสร้างผิวและโครงสร้างร่างกายที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรบริโภคอย่างเหมาะสมและระมัดระวัง รวมถึงดูแลผิวด้วยวิธีอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การออกกำลังกาย และการพักผ่อนให้เพียงพอ