หน้าเป็นฝ้า กระ!…สาเหตุและวิธีการแก้ฝ้า กระบน จุดด่างดำบนใบหน้า

610
หน้าเป็นฝ้า กระ

คนที่โดนแดดจัดเป็นประจำ หรืออายุเริ่มมากขึ้น ใบหน้าก็จะเริ่มเกิดฝ้า กระ จุดด่างดำ จนรู้สึกกังวลใจเพราะทำให้สีผิวดูไม่สม่ำเสมอ เกิดจุดหรือปื้นบนใบหน้าที่เห็นได้ชัด ต้องแต่งหน้าปกปิดมากขึ้น หรือแต่งหน้าไม่สวยเหมือนเก่า และยังทำให้ผิวหน้าดูแก่อีกด้วย ไปดูกันดีกว่าสาเหตุของการเกิดฝ้าและกระมีอะไรบ้าง และรักษาได้อย่างไร?

สาเหตุของการเกิดฝ้าและกระ

ในชั้นผิวหนังมีเมลานินที่เป็นเซลล์เม็ดสี ช่วยป้องกันผิวจากแสงแดด ถ้าโดนแสงแดดมาก เมลานินก็จะดูดซับรังสียูวีมากทำให้เกิดจุดสีเข้มบนเมลานิน และเซลล์เมลาโนไซต์จะถูกกระตุ้นให้สร้างเมลานินมากขึ้น ถ้ามีการสะสมเมลานินเป็นปริมาณมากในระยะเวลานาน ก็จะก่อให้เกิดฝ้าและกระ ขึ้นได้ ซึ่งจะทำให้ผิวบริเวณนั้นเป็นรอยสีน้ำตาล ไปจนถึงสีเทา มักเกิดขึ้นบริเวณโหนกแก้ว เหนือริมฝีปาก หน้าผาก คาง พบมากในช่วงอายุ 20-50 ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นในการเกิดฝ้า กระ ดังนี้

  • พันธุกรรม ถ้ามีคนในครอบครัวมีฝ้ากระ ก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นฝ้ากระได้มากกว่าคนทั่วไป เช่น ในชนชาติยุโรปพบฝ้ากระได้มากกว่าชนชาติอื่น
  • ฮอร์โมนเพศหญิง คือ เอสโตรเจน และ โพรเจสเทอโรน ทำให้เซลล์ไขมันใต้ผิวหนังมีการเปลี่ยนแปลง จึงพบฝ้ากระในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และจะเกิดขึ้นได้มากในผู้หญิงขณะตั้งครรภ์ รับประทานยาคุมกำเนิด หรือการรักษาโรคด้วยฮอร์โมน
  • โรคไทรอยด์ ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ

ลักษณะของฝ้าและกระ

ลักษะของฝ้า

ฝ้าแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้

  • ฝ้าตื้น เห็นขอบเขตได้ชัดเจน มีสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงเทาดำ เกิดที่ชั้นหนังกำพร้า
  • ฝ้าลึก เห็นขอบเขตได้ไม่ชัดเจน มีสีน้ำตาลอ่อน เทา ไปจนถึงเทาอมฟ้า เกิดที่ชั้นหนังแท้
  • ฝ้าผสม ฝ้าที่มีการผสมกันระหว่างฝ้าลึก และฝ้าตื้นบนใบหน้า

ลักษะของกระ

กระแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ ดังนี้

  • กระตื้น มีขนาดเล็กไม่เกิน 0.5 เซนติเมตร เกิดที่ชั้นหนังกำพร้า สามารถจางลงได้เมื่อไม่เจอแสงแดด
  • กระลึก เป็นจุดสีน้ำตาลเทา ขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เกิดที่ชั้นหนังแท้
  • กระแดด เป็นวงกลมสีน้ำตาลเป็นจุดๆ พบมากในผู้สูงอายุ
  • กระเนื้อ เป็นตุ่มเนื้อเล็กๆ ที่สามารถขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกายไม่ใช่เฉพาะใบหน้า วิธีรักษาคือการทำเลเซอร์เท่านั้น

วิธีการแก้ปัญหาหน้าเป็นฝ้าและกระ

1. ทาครีมกันแดดสม่ำเสมอ

สำหรับกระและฝ้าที่เกิดที่ชั้นหนังกำพร้าสามารถจางลงได้ โดยหลีกเลี่ยงการเจอแสงแดด และทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้านเป็นประจำ

2. รับประทานอาหารที่มีวิตามิน A, C และ E

วิตามิน A, C และ E เป็นวิตามินที่ช่วยให้ผิวแข็งแรงขึ้น การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเหล่านี้สามารถป้องกันไม่ให้ฝ้าขยายตัวใหญ่ขึ้นได้

3. รักษาด้วยยาทา

ยาที่สามารถรักษาฝ้ากระได้ คือยาที่มีส่วนประกอบของกรดวิตามินเอ (Retinoic Acid), ทรานีซามิก (Tranexamic acid) หรือไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) อย่างไรก็ตามอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคือง จึงต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์

4. พอกหน้าด้วยว่านหางจระเข้

นำว่านหางจระเข้แช่น้ำประมาณ 10 นาที แล้วปอกเปลือกล้างให้สะอาด บดหรือปั่นให้ละเอียด แช่ตู้เย็นสักพัก จากนั้นนำมาพอกหน้าประมาณ 15-20 นาทีแล้วล้างออก พอกสัปดาห์ละ 2 ครั้ง จะช่วยลดฝ้ากระได้

5. พอกหน้าด้วยไข่ขาวดิบ

นำไข่ขาวดิบทาบางๆ เวลาที่เป็นกระฝ้า ทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที แล้วใช้สำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดออก แล้วล้างหน้าด้วยน้ำสะอาดและโฟมตามปกติ สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ไข่ขาวจะช่วยลดเลือนรอยฝ้าและช่วยดูดซับสิ่งสกปรกบนผิวหน้าได้

6. ใช้น้ำใบบัวบกแทนโทนเนอร์

นำใบบัวบกสดปั่นให้ได้น้ำใบบัวบก แล้วนำมาเช็ดหน้าแทนโทนเนอร์ จะช่วยทำให้ฝ้าค่อยๆ จางลง

7. รักษาด้วย IPL

IPL หรือ Intense Pulsed Light คือการใช้คลื่นแสงยิงลงไปชั้นใต้ผิวหนัง ก่อให้เกิดความร้อนและทำลายโปรตีนของเม็ดสี จึงช่วยกำจัดฝ้ากระได้ ทำให้ดูขาวขึ้น ซึ่งต้องทำหลายครั้ง เว้นระยะเวลาครั้งละ 2 สัปดาห์ และทำติดต่อกันประมาณ 2-3 เดือน

ในกรณีที่เป็นกระลึกและฝ้าลึก มักใช้เวลานานในการรักษา ดังนั้นถ้ายังไม่เกิดปัญหาฝ้ากระ หรือไม่อยากให้ลุกลามไปมากกว่าเดิม ควรป้องกันโดยการหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดเป็นเวลานาน สวมหมวกป้องกันใบหน้า อย่าลืมทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหมั่นทาครีมบำรุงผิวเพื่อให้ผิวแข็งแรงไม่เกิดฝ้ากระได้ง่าย