เราคงเคยได้ยินชื่อโรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) มาไม่มากก็น้อย คนทั่วไปมักเข้าใจโรคนี้อย่างคร่าวๆ ว่าเป็นโรคที่ผู้ป่วยจะมีอารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย ซึ่งอาจเป็นความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้องหรือละเอียดนัก เพราะผู้ป่วยโรคไบโพลาร์มีความผิดปกติทั้งภาวะทางอารมณ์ และระบบการทำงานของร่างกายด้วย ไปดูกันดีกว่าว่าโรคไบโพลาร์มีอาการอย่างไร และสามารถรักษาได้อย่างไร?
โรคไบโพลาร์คืออะไร?
โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) หรือเรียกอีกชื่อว่าโรคอารมณ์สองขั้ว เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะมีอารมณ์แปรปรวนผิดปกติ ระหว่างสองภาวะสลับกันไป นั่นคือ ภาวะอารมณ์ดีหรือตื่นตัวมากกว่าปกติ (Mania) กับภาวะซึมเศร้า (Depression) โดยระยะเวลาของแต่ละภาวะมีความแตกต่างกันไป เช่น ผู้ป่วยอาจอยู่ในภาวะอารมณ์ดีผิดปกติเป็นสัปดาห์ จนถึงเป็นเดือน แต่ก็มีช่วงที่อารมณ์ปกติคั่นกลางด้วย จากนั้นจึงสลับไปมีอาการภาวะซึมเศร้า ทำให้ผู้ป่วยเกิดความลำบากในการทำงาน การใช้ชีวิต และความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง
ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์มักมาพบแพทย์เนื่องจากเข้าใจว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งแพทย์ต้องซักประวัติและติดตามอาการอย่างใกล้ชิดในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไบโพลาร์
อาการของโรคไบโพลาร์
ผู้ป่วยจะมีภาวะอารมณ์สองขั้วสลับกันไป โดยแต่ละภาวะจะมีอาการดังนี้
1. ภาวะอารมณ์ดีหรือตื่นตัวมากกว่าปกติ (Mania)
ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตนเองมีพลังงานล้นเหลือ ตื่นตัวตลอดเวลา ส่งผลให้นอนน้อยกว่าปกติโดยไม่มีอาการอ่อนเพลีย ผู้ป่วยจะอารมณ์ดี พูดเร็วและพูดมาก แต่ก็เปลี่ยนเรื่องที่พูดหรือทำได้อย่างรวดเร็ว มีความคิดในการทำกิจกรรมหลายอย่างมากกว่าปกติ แต่หากลงมือทำจริงมักทำได้ไม่ดีหรือเปลี่ยนใจไปทำอย่างอื่นในเวลาไม่นาน มีความบกพร่องในการตัดสินใจ เช่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ทำเรื่องผิดกฎหมาย และมีความต้องการทางเพศสูง
2. ภาวะซึมเศร้า (Depression)
ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่มีเรี่ยวแรง ซึมเศร้า เสียใจง่าย มีความคิดในแง่ลบ วิตกกังวล รู้สึกผิดหวัง รู้สึกไร้ค่า จนไปถึงขั้นมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านความจำ ขาดสมาธิ ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ทำให้มีความสุข ไม่อยากทำกิจกรรม ส่วนการนอนอาจนอนมากเกินไปหรือน้อยเกินไป เช่นเดียวกับการกิน อาจกินมากเกินไปหรือน้อยเกินไป และมีแนวโน้มในการใช้สารเสพติด
สาเหตุของโรคไบโพลาร์
1. ชีวภาพในร่างกาย
โรคไบโพลาร์เป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคซึมเศร้า ซึ่งเกิดขึ้นจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานไม่สมดุลกัน ได้แก่ สารนอร์อะดรีนาลีน (Noradrenaline) สารเซโรโทนิน (Serotonin) และสารโดปามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารที่ควบคุมความรู้สึก การตอบสนองต่อความเครียด สิ่งเร้า รวมทั้งระบบการทำงานของร่างกาย เช่น ความจำระยะสั้น การนอนหลับ ความอยากอาหาร
2. กรรมพันธุ์
ผู้ป่วยมักมีญาติที่มีความใกล้ชิดทางสายเลือด เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ที่ป่วยเป็นโรคนี้หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางอารมณ์ ซึ่งปัจจุบันยังมีการศึกษายีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคไบโพลาร์อย่างต่อเนื่องเพื่อหางานสนับสนุนวิจัยที่แน่ชัด
3. การเผชิญปัญหาชีวิต
คนที่พบเจอเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนสภาพจิตใจ ก่อให้เกิดความผิดหวังเสียใจอย่างรุนแรง หรือปัญหาการเจ็บป่วย ปัญหาความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด ความเครียดจากการเรียนและการทำงาน ก็เป็นปัจจัยในการทำให้เกิดโรคไบโพลาร์ได้
วิธีการรักษาโรคไบโพลาร์
1. การรักษาด้วยยา
ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์มีสารสื่อประสาทในสมองไม่สมดุลกัน จึงต้องใช้ยาปรับการทำงานของสารสื่อประสาท เพื่อไม่ให้สารสื่อประสาทสูงหรือต่ำเกินไป และผู้ป่วยต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงที่อาการดีขึ้นแล้ว เพราะหากหยุดยาอย่างกะทันหัน จะเพิ่มความเสี่ยงในการกลับมาเป็นโรคซ้ำหรือมีอาการรุนแรงกว่าเดิม
ผู้ป่วยที่รับประทานยาจะมีอาการดีขึ้นภายในเวลาประมาณ 2-8 สัปดาห์ แต่สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นครั้งแรก แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
2. การบำบัดทางจิต
นอกจากการรับประทานยาแล้ว ผู้ป่วยบางรายต้องได้รับการบำบัดทางจิตด้วย ทั้งการรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ การเข้าร่วมกลุ่มบำบัดกับผู้ป่วยอื่นๆ เพื่อให้สามารถจัดการกับอาการของโรคได้ดียิ่งขึ้น
โรคไบโพลาร์สามารถรักษาให้หายได้ แต่เป็นโรคที่มีอัตราการกลับมาเป็นซ้ำถึง 90% ผู้ป่วยจึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเพื่อเตรียมพร้อมรับมืออาการในแต่ละภาวะ รวมทั้งรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ความเข้าใจและกำลังใจจากคนรอบข้างก็สำคัญต่อผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
บทความแนะนำ ...
- โรคซึมเศร้าคืออะไร? มีสาเหตุจากอะไร รักษาได้อย่างไร?
- โรคไบโพลาร์คืออะไร? มีสาเหตุจากอะไร รักษาได้อย่างไร?
- โรคแพนิคคืออะไร? มีสาเหตุจากอะไร รักษาได้อย่างไร?
- โรค PTSD คืออะไร? มีสาเหตุจากอะไร รักษาได้อย่างไร?
- โรคสมาธิสั้นคืออะไร? มีสาเหตุจากอะไร รักษาได้อย่างไร?
- โรคติดเกมคืออะไร? มีสาเหตุจากอะไร รักษาได้อย่างไร?