โรคสมาธิสั้น (ADHD) คืออะไร? มีสาเหตุจากอะไร รักษาได้อย่างไร?

823
โรคสมาธิสั้น หรือ Attention-deficit Hyperactivity Disorder (ADHD)

พูดถึงโรคสมาธิสั้นแล้ว หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นแค่อาการอย่างหนึ่งในเด็กที่อยู่ไม่สุข ซน ไม่มีสมาธิจดจ่อ เมื่อโตขึ้นแล้วอาการจะหายไปเอง แท้จริงแล้วสมาธิสั้นถือเป็นโรคอย่างหนึ่ง ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม จะส่งผลเสียไปถึงตอนโต ทำให้มีปัญหาในการทำงาน และความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างได้

โรคสมาธิสั้นคืออะไร?

โรคสมาธิสั้น หรือ Attention-deficit Hyperactivity Disorder (ADHD) แต่เดิมมีชื่อว่า Attention Deficit Disorder (ADD) ซึ่งปัจจุบันบางคนยังใช้คำว่าADD สำหรับกลุ่มเด็กที่มีปัญหาด้านสมาธิ แต่ผู้เชี่ยวชาญถือว่าคำนี้ล้าสมัยไปแล้ว และโรค ADHD ก็มีการแยกประเภทต่างๆ ที่อธิบายภาวะต่างๆ รวมถึงเด็กที่มีปัญหาด้านสมาธิอยู่แล้ว การใช้ ADHD จึงครอบคลุมกว่าและไม่ก่อให้เกิดความสับสนนั่นเอง

โรคสมาธิสั้น คือโรคที่ผู้ป่วยขาดสมาธิในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ มักขี้ลืม ไม่ทำตามคำสั่ง ไม่อดทน มักเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง 3-6 ปี แต่วินิจฉัยได้ค่อนข้างยาก และผู้ปกครองมักไม่สังเกตเพราะคิดว่าเป็นลักษณะทั่วไปของเด็ก จนกระทั่งผู้ป่วยเริ่มมีอาการชัดขึ้นเมื่ออายุ 6-12 ปีเมื่อเข้าเรียนวัยประถมและต้องใช้ชีวิตร่วมกับเด็กคนอื่นๆ

ที่สำคัญ ถ้าเด็กไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้มีอาการต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งมีการควบคุมตนเองได้มากกว่า แต่ก็จะสังเกตได้จากอาการหงุดหงิดโมโหง่าย ไม่มีสมาธิในการทำงาน มีปัญหากับคนรอบข้างบ่อยๆ และอาจพัฒนาเป็นผู้ป่วยโรคจิตเวชอื่นๆ เช่น โรคซึมเศร้าได้

อาการของโรคสมาธิสั้น

1. อาการสมาธิสั้นในเด็ก

ในวัยเด็ก ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นจะซนมากกว่าเด็กทั่วไป ไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน ไม่ทำตามคำสั่งทั้งที่เข้าใจ ไม่สนใจขณะมีคนพูดด้วย ไม่สนใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จนทำให้เกิดความผิดพลาด ขี้ลืม วอกแวกง่าย จัดลำดับความสำคัญไม่ได้ บริหารเวลาไม่ได้ ส่วนในด้านการตื่นตัวจะพูดมาก พูดไม่หยุด ลุกออกจากที่นั่งบ่อยๆ ไม่ชอบการรอ ไม่ฟังคนอื่นพูดให้จบ ชอบพูดแทรกขณะที่คนอื่นกำลังพูดหรือทำกิจกรรมอย่างอื่นอยู่

2. อาการสมาธิสั้นในผู้ใหญ่

อาการในผู้ใหญ่จะน้อยกว่าเด็ก แต่จะมีความแปรปรวนด้านอารมณ์สูง เช่น หงุดหงิดง่าย ใจร้อน ไม่อดทน มักประมาท ขับรถเร็ว รออะไรไม่ได้ จัดการกับความเครียดไม่ได้ ขี้ลืม ชอบพูดแทรก บริหารเวลาไม่ได้ทำให้มักมาทำงานสาย ทำงานไม่ทัน ชอบทำงานใหม่โดยที่งานเก่ายังไม่เสร็จ เหม่อลอยไม่มีสมาธิจดจ่อกับงาน

สาเหตุของโรคสมาธิสั้น

  • พันธุกรรม ผู้ป่วยโรคนี้มีแนวโน้มสูงที่มีผู้เกี่ยวข้องทางสายเลือดป่วยเป็นโรคนี้เช่นกัน
  • โครงสร้างสมอง ผู้ป่วยมักมีพื้นที่ในสมองบางส่วนใหญ่หรือเล็กกว่าสมองของคนทั่วไป และมีส่วนเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทในสมองที่ส่งผลต่อโรคสมาธิสั้น ซึ่งอาจเป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือเพราะได้รับการกระทบกระเทือนตั้งแต่ในครรภ์หรือช่วงที่ยังเป็นเด็ก
  • การตั้งครรภ์และการคลอด ระหว่างการตั้งครรภ์หากแม่เสพสารเสพติด หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลภาวะ รวมถึงการคลอดก่อนกำหนดที่น้ำหนักของเด็กน้อยกว่าเกณฑ์ มีผลทำให้เด็กเกิดโรคสมาธิสั้นได้
  • มลภาวะ เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลภาวะจะมีโอกาสเป็นโรคสมาธิสั้นมากกว่าเด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี

วิธีการรักษาโรคสมาธิสั้น

1. การรักษาด้วยยา

กลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น คือ กลุ่มยากระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง มีทั้งยาแบบช่วยกระตุ้นการทำงานของสารสื่อประสาทที่ควบคุมสมาธิ ความคิด และพฤติกรรม มักใช้กับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไปจนถึงวัยรุ่น หรือยาที่ยับยั้งการดูดกลับของสารนอร์อะดรีนารีน ทำให้มีสารนี้มากขึ้น ซึ่งเป็นสารที่ช่วยควบคุมอาการหุนหันพลันแล่นและเพิ่มสมาธิ โดยเป็นยาที่ใช้ในเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่

อย่างไรก็ตาม การใช้ยาเพื่อรักษาโรคสมาธิสั้นต้องเป็นยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น เพื่อให้ได้รับชนิดและปริมาณของยาที่เหมาะสม

2. การรักษาด้วยการบำบัด

การรักษาด้วยยามักควบคู่ไปกับการบำบัด ซึ่งมีวิธีการบำบัดหลากหลายแบบภายใต้การดูแลของแพทย์ ดังนี้

  • การให้ความรู้ทางสุขภาพจิต (Psychoeducation) เป็นการพูดคุยให้ผู้ป่วยทำความเข้าใจกับโรคและหาวิธีรับมือได้ถูกต้อง
  • พฤติกรรมบำบัด (Behavior Therapy) คือ การวางแผนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเป็นระบบ เช่น ชมเด็กเมื่อทำงานได้สำเร็จ หรือลงโทษเมื่อมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เพื่อให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง
  • การเข้าทำความเข้าใจ ผู้ปกครองต้องเข้าโปรแกรมฝึกหัดและให้ความรู้สำหรับการดูแลเด็กสมาธิสั้น เพื่อที่จะทำความเข้าใจและดูแลเด็กได้ถูกต้อง
  • การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) เป็นการบำบัดที่ผู้ป่วยต้องทำความเข้าใจโรคและอาการ และปรับมุมมองความคิดเพื่อการมีพฤติกรรมที่เหมาะสม โดยพูดคุยกับนักบำบัด ซึ่งมีทั้งการบำบัดแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม

3.การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม

การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาล คาเฟอีน สารปรุงแต่งในอาหาร มีผลต่อการปรับสมดุลสารเคมีในร่างกาย อาจกระตุ้นอาการสมาธิสั้นมากขึ้น ดังนั้นควรเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม โดยสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำได้

เด็กๆ ที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็ต่อเมื่อผู้ปกครองมีความรู้และความเข้าใจในโรคนี้ เพราะเด็กจะไม่สามารถแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมด้วยตัวเองได้ ดังนั้นต้องอธิบายด้วยเหตุผล และช่วยปรับพฤติกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งความอดทนและความเข้าใจจากผู้ปกครองหรือคนรอบข้างเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก

บทความแนะนำ ...