โรคแพนิค (Panic Disorder) คืออะไร? มีสาเหตุจากอะไร รักษาได้อย่างไร?

458
โรคแพนิค (Panic Disorder)

คำว่า แพนิค (Panic) คงเป็นที่คุ้นหูกันอยู่บ้าง และหลายคนเข้าใจว่าเป็นอาการตื่นตระหนกต่อเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งความจริงแล้วอาการแพนิคสามารถเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งกระตุ้น และถ้าเกิดขึ้นบ่อยจนทำให้มีปัญหาในการใช้ชีวิต อาจได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคแพนิค (Panic Disorder) มาสำรวจกันดีกว่าว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการของโรคแพนิคหรือไม่ มีสาเหตุมาจากอะไร และจะรักษาอย่างไร

โรคแพนิคคืออะไร?

โรคแพนิค (Panic Disorder) คือ ภาวะตื่นตระหนกอย่างรุนแรงโดยไม่สามารถควบคุมอาการนั้นได้ เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่วินิจฉัยได้ยากกว่าโรคอื่นๆ เนื่องจากมีอาการเหมือนมีปัญหาด้านสุขภาพกาย เช่น หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เหงื่อออก คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยมักเข้าใจว่าตนเองมีความเจ็บป่วยทางกาย แต่เมื่อวินิจฉัยแล้วมักไม่พบความผิดปกติของระบบการทำงานในร่างกาย

โรคแพนิคอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาแม้ไม่ได้เผชิญสถานการณ์อันตราย ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน และกังวลเพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอาการขึ้นเมื่อไหร่อีก มักพบได้ในวัยรุ่นตอนปลายหรือผู้ที่ย่างเข้าวัยผู้ใหญ่ตอนต้น และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

อาการของโรคแพนิค

อาการของโรคแพนิคเป็นอาการของภาวะตกใจกลัวอย่างรุนแรง แบ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นทางกาย กับทางจิตใจ ดังนี้

  • ทางกาย จะมีอาการใจสั่น ใจเต้นรัวเร็ว หายใจลำบาก แน่นหน้าอก มีอาการสำลัก อ่อนแรง เหน็บชาตามร่างกาย ปวดจี๊ดตามปลายมือปลายเท้า มึนศีรษะ รู้สึกโคลงเคลงคล้ายจะเป็นลม มีอาการสั่น เหงื่อออก รู้สึกร้อนผิดปกติรู้สึกร้อนผิดปกติ รวมถึงท้องไส้ปั่นป่วน คลื่นไส้อาเจียน
  • ทางจิตใจ จะมีความรู้สึกกลัว เช่น กลัวความตาย การรับรู้สิ่งต่างๆ อาจบิดเบือนไป รู้สึกควบคุมตัวเองไม่ได้จนแสดงอาการบางอย่างที่น่าอาย

อาการของโรคแพนิคไม่จำเป็นต้องมีอาการทั้งหมดดังที่กล่าวมา แต่จะมีการอย่างน้อย 4 อาการ หากน้อยกว่านั้นอาจได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเพียงอาการแพนิคที่ยังเป็นไม่มาก (Limited-symptom Panic Attack) อิงตามคู่มือการวินิจฉัยความผิดปกติทางจิตที่จัดทำโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (DSM-V) หรือถ้ามีอาการครบทั้งหมด อาจได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกลัวที่ชุมชน (Agoraphobia) ร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการดังที่กล่าวมาและสงสัยว่าตนเองเป็นโรคแพนิคต้องเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

สาเหตุของโรคแพนิค

1. ปัจจัยทางกายภาพ

  • การถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ป่วยโรคแพนิคมักพบว่าคนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคแพนิค หรือปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ซึ่งสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ยิ่งมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดใกล้ชิดมาก ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นมาก
  • ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง โรคแพนิคคือโรคจิตเวชชนิดหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง คล้ายโรคซึมเศร้า และโรคแพนิคอาจมีสาเหตุมาจากการทำงานที่บกพร่องของสมองส่วนหน้าที่ควบคุมการตอบสนองแบบต่อสู้หรือหนีของร่างกายร่วมด้วย
  • สารเคมีบางอย่าง ผู้ที่เป็นโรคแพนิคอาจมีสาเหตุจากการใช้สารเสพติดอย่างแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน รวมถึงผู้ที่สูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังพบว่าการสูดดมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากไปก็กระตุ้นให้เกิดอาการแพนิคได้

2. ปัจจัยทางสุขภาพจิต

ผู้ที่เคยเผชิญเรื่องร้ายแรงอาจส่งผลให้เกิดโรคแพนิคได้ โดยเฉพาะการสูญเสียคนสำคัญ

วิธีการรักษาโรคแพนิค

1. การบำบัดทางจิต

ผู้ป่วยจะได้เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับโรคแพนิคมากขึ้นเพื่อจะได้รับมือกับอาการป่วยของตนเองได้ดีขึ้น และค่อยๆ ปรับมุมมองความคิดต่อสิ่งต่างๆ ให้เป็นแง่บวกมากขึ้น ส่วนการบำบัดพฤติกรรมอย่างการหลีกเลี่ยงสถานที่หรือสถานการณ์ต่างๆ จะทำโดยการหาสาเหตุที่แท้จริงของความกลัว เช่น ผู้ป่วยเข้าใจว่าตนเองกลัวเครื่องบินโดยมีสาเหตุว่ากลัวเครื่องบินตก แต่สาเหตุแท้จริงเพราะกลัวการอยู่ในที่ที่ได้รับความช่วยเหลือได้ยาก ก็จะทำให้รักษาได้ตรงจุด และค่อยๆ ให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับความกลัวของตนเองทีละน้อยจนกว่าจะรับมือได้ดีขึ้น

2. การรักษาด้วยยา

  • ยาต้านซึมเศร้า โดยโรคแพนิคจะใช้ยาเอสเอสอาร์ไอ (SSRI) ยาเอสเอ็นอาร์ไอ (SNRI) และยาไตรไซลิก (Tricylic Antidepressants) ในการรักษา ซึ่งจะช่วยปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองอย่างเซโรโทนิน และนอร์อิพิเนฟริน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้อารมณ์ดีขึ้น อย่างไรก็ตามอาจมีผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ปากแห้ง มีผื่นตามผิวหนัง ถ้ามีอาการรุนแรงต้องรีบพบแพทย์ทันที
  • ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) คือ ยาในกลุ่มยาระงับประสาท แต่จะรักษาได้ในระยะสั้น และอาจทำให้เกิดอาการเสพติดได้ ไม่ควรใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ติดแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และสารเสพติดอื่นๆ
  • ยากันชัก การใช้ยากันชักจะบรรเทาอาการแพนิคที่เกิดขึ้นได้ แต่ผลข้างเคียงคืออาจรู้สึกง่วง ปวดหัว มีอาการบ้านหมุน เจริญอาหาร น้ำหนักขึ้น ตามัว แต่จะทำให้รู้สึกคลื่นไส้น้อยลงกว่ายาเอสเอสอาร์ไอ

ระหว่างการรักษาโรคแพนิค ผู้ป่วยอาจป้องกันการเกิดอาการแพนิคได้ยาก แต่ก็สามารถลดความเสี่ยงได้โดยงดเครื่องดื่มอย่างแอลกอฮอล์ และสารเสพติดอื่นๆ ควรออกกำลังกายและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และปรับมุมมองต่อสิ่งต่างๆ ให้เป็นแง่บวก รวมถึงฝึกการหายใจลึกๆ เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย

บทความแนะนำ ...