โรค PTSD คืออะไร? มีสาเหตุจากอะไร รักษาได้อย่างไร?

1627
โรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder)

คนที่ผ่านเหตุการณ์สะเทือนขวัญร้ายแรง ไม่แปลกถ้าจะมีการนึกถึงเหตุการณ์นั้นอยู่บ่อยครั้ง และมีความกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นอีก แต่ถ้ามีอาการติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และมีอาการทางกายอื่นๆ ร่วมได้ เช่น ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออก ควบคุมอารมณ์และความคิดตนเองไม่ค่อยได้ เป็นไปได้สูงว่านี่คืออาการของโรค PTSD

โรค PTSD คืออะไร?

PTSD ย่อมาจาก Post-Traumatic Stress Disorder คือ สภาวะผิดปกติทางจิตใจหลังจากเผชิญเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง เช่น ภัยพิบัติ อุบัติเหตุ การก่อการร้าย การฆาตกรรม การสูญเสียคนรัก สงคราม การข่มขืน เป็นต้น ส่งผลกระทบต่อความคิดและสุขภาพ และก่อให้เกิดความบกพร่องในการทำงานรวมถึงการใช้ชีวิตประจำวัน โดยจัดอยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง

อาการของโรค PTSD

อาการของโรคสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะหลังจากพบเหตุการณ์สะเทือนใจอย่างร้ายแรง

1. ระยะความเครียดแบบเฉียบพลัน (Acute Stress Disorder: ASD)

จะเกิดขึ้นภายในเวลาประมาณ 1 เดือน โดยจะมีอาการเครียดขึ้นมาอย่างเฉียบพลัน เช่น กลัว สิ้นหวัง สับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถปรับตัว หรือไม่ได้รับการช่วยเหลือ ก็จะพัฒนาไปสู่ระยะที่ 2

2. ระยะความผิดปกติทางจิตใจ (PTSD)

ระยะนี้จะเกิดขึ้นภายใน 6 เดือนหลังเจอเหตุการณ์สะเทือนใจอย่างร้ายแรง และจะกินเวลานานกว่า 1 เดือน หากกินเวลานานมากกว่า 3 เดือน แพทย์อาจจะวินิจฉัยว่าเป็นโรค PTSD แบบเรื้อรัง โดยลักษณะอาการสำคัญของระยะความผิดปกติทางจิตใจหรือระยะ PTSD แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มอาการ ดังนี้

  1. Re-experiencing ผู้ป่วยจะไม่สามารถสลัดความคิดเกี่ยวกับเหตุการณ์ร้ายแรงที่เผชิญมาได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากเหตุร้ายแรง มักมีภาพเหตุการณ์ตามมาหลอกหลอนหรือฝันเห็นอยู่บ่อยๆ และจะมีอาการทางกายเมื่อนึกถึง เช่น เหงื่อออก หายใจสั้น เมื่อนึกถึงเหตุการณ์นั้น
  2. Avoidance/Numbing ผู้ป่วยจะหลีกเลี่ยงความคิด ความรู้สึก การไปยังสถานที่หรือการเข้าร่วมกิจกรรมที่ทำให้นึกถึง และอาจถึงขั้นนึกถึงเหตุการณ์ร้ายแรงที่เคยเผชิญมาไม่ออก รวมถึงมีความรู้สึกต่อสิ่งรอบข้างและผู้อื่นน้อยลง
  3. Hyperarousal ผู้ป่วยมีภาวะตื่นตัวสูงผิดปกติ เช่น นอนไม่หลับหรือนอนนานเกินไป หงุดหงิดโมโหง่าย ไม่มีสมาธิ ตกใจกลัวง่ายกับสิ่งเล็กน้อย

สาเหตุของโรค PTSD

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น สาเหตุหลักที่รู้จักกันโดยทั่วไปของโรค PTSD คือการผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจอย่างร้ายแรง เช่น อุบัติเหตุเครื่องบินตก รถชน ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกลักพาตัว ถูกปล้น หรือพบเห็นเหตุการณ์อาชญากรรม เคยอยู่ในสงคราม ภัยพิบัติต่างๆ รวมถึงเคยถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่มันอันตรายถึงชีวิต แต่นอกจากนี้แล้วยังมีสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย ดังนี้

  • พันธุกรรม จากการวิจัยที่ผ่านมาพบว่า ความทรงจำเกี่ยวกับความกลัวมีผลจากพันธุกรรมร่วมด้วย ทั้งนี้ยังต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องว่าพันธุกรรมของแต่ละคนตอบสนองต่อความกลัวที่แตกต่างกันอย่างไร
  • การทำงานของสมอง สารสื่อประสาทและฮอร์โมนมีผลต่อการตอบสนองความเครียดในร่างกายที่แตกต่างกัน
  • ประสบการณ์ชีวิต ผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์สะเทือนใจในวัยเด็ก จะมีโอกาสในการเกิดภาวะ PTSD ได้ง่ายกว่า
  • สุขภาพจิต เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคทางจิตเวชมาก่อน เช่น โรคซึมเศร้า จะมีความเสี่ยงเกิดโรค PTSD ได้ง่าย
  • ลักษณะนิสัยและบุคลิกภาพ เช่น เป็นคนมองโลกในแง่ร้าย จัดการกับความเครียดหรืออุปสรรคในชีวิตไม่ค่อยได้ ก็จะมีโอกาสเป็นโรค PTSD ง่ายกว่า

วิธีการรักษาโรค PTSD

1.การรักษาทางจิตวิทยา

การรักษาแบบนี้จะเป็นการหาสาเหตุของโรคและให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับสิ่งนั้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น จินตนาการหรืออ่านข่าวเรื่องนั้นแบบซ้ำๆ เพื่อให้เกิดความชินชา และในผู้ป่วยบางรายที่มีความรู้สึกผิดร่วมด้วย ต้องใช้วิธีจิตบำบัด คือการเปลี่ยนความคิดและการใช้เหตุผล

2. การรักษาด้วยยา

หลายครั้งการรักษาทางจิตวิทยาต้องมีการรักษาด้วยยาควบคู่ไปด้วย โดยจิตแพทย์จะจ่ายยาในกลุ่มยาต้านซึมเศร้าให้ ซึ่งต้องใช้ต่อเนื่องเป็นระยะประมาณ 2-3 สัปดาห์แล้วดูอาการว่ายาที่ให้ไปเหมาะกับผู้ป่วยหรือไม่ ถ้าไม่ดีขึ้นอาจต้องการปรับเปลี่ยนชนิดหรือขนาดของยา รวมถึงอาจมีการจ่ายยาคลายกังวลแต่จะให้ผู้ป่วยใช้ในระยะสั้นๆ เพื่อป้องกันการเสพติด

โรค PTSD เป็นโรคที่ไม่มีใครอยากเป็น ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยเกิดอาการของโรคนี้ควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง รวมถึงคนรอบข้างต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคดังกล่าวและคอยให้กำลังใจผู้ป่วย เพราะโรคนี้จะไม่สามารถหายได้เองเพียงรอให้เวลาเยียวยา

บทความแนะนำ ...