เมื่อเข้าสู่ช่วงชีวิตวัยทำงานได้ระยะหนึ่ง อาการปวดคอ ปวดบ่า ถือเป็นมรสุมลูกใหญ่ที่วัยทำงานหลายคนโดยเฉพาะชาวออฟฟิศนั้นหลีกเลี่ยงแทบไม่ได้ เนื่องจากพฤติกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ การใช้สมาร์ทโฟน ต่างก็เป็นปัจจัยสนับสนุนอาการเหล่านี้ได้ทั้งสิ้น ซึ่งหากปล่อยไว้นานเกินไปก็อาจทำให้เกิดความรุนแรงจนเป็นอันตรายได้
สาเหตุของอาการปวดคอและบ่า
สาเหตุของอาการปวดคอและบ่านั้นเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยและมักเกิดกับผู้ที่ทำงานอยู่กับที่และอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน เช่น พนักงานออฟฟิศ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในท่าเดิมตลอดทั้งวันจนทำให้กล้ามเนื้อตึงเกร็งจนเกิดอาการเจ็บปวดตามมา โดยสาเหตุหลักของอาการปวดคอและบ่ามีดังต่อไปนี้
- อายุที่มากขึ้นหรือใช้งานกระดูกคอมากเกินไปทำให้กระดูกต้นคอเสื่อม
- การอยู่ในท่าที่ไม่ถูกต้อง เช่น นั่งก้มหน้านานเกินไป เงยหน้านานเกินไป อยู่ในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน
- ความเครียดและการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอทำให้กล้ามเนื้ออ่อนล้า
- อุบัติเหตุหรือกล้ามเนื้อเคล็ด ทำให้หันคอได้ลำบาก เช่น นอนตกหมอน
วิธีแก้อาการปวดคอและบ่า
อาการปวดคอและบ่านั้นมีวิธีแก้หลายวิธีทั้งการแก้ที่ปลายเหตุเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดและการแก้ที่ต้นเหตุซึ่งช่วยป้องกันอาการปวดในระยะยาวนั่นเอง
1. ประคบร้อนหรือประคบเย็น
ประคบร้อนที่คอและบ่าด้วยกระเป๋าน้ำร้อนหรือผ้าชุบน้ำอุ่นบิดหมาดประมาณ 20-30 นาที หรือ ประคบเย็นด้วยผ้าขนหนูห่อน้ำแข็งประคบบริเวณที่ปวดในช่วง 2-3 วันแรก ซึ่งจะช่วยลดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการประคบร้อนและเย็นขณะนอนหลับเพราะอาจทำให้ผิวหนังเสียหายได้
2. บริหารคอและบ่าอยู่เสมอ
เนื่องจากสาเหตุหนึ่งของอาการปวดคอและบ่าเกิดจากกล้ามเนื้อที่แข็งเกร็ง ซึ่งเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อคอและบ่าผิดท่าหรืออยู่ในท่าเดิมนานเกินไป จึงควรเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอและยืดกล้ามเนื้อคออยู่เสมอเพื่อลดอาการเกร็ง สร้างกล้ามเนื้อที่แข็งแรงมากยิ่งขึ้นและช่วยลดอาการบาดเจ็บบริเวณคอและบ่าในระยะยาว ทั้งนี้ไม่ควรสะบัดคอแรงๆ หรือนวดคอแรงจนเกินไป รวมไปถึงควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ เพื่อให้กล้ามเนื้อได้เคลื่อนไหวมากขึ้น
3. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันถือเป็นสาเหตุหลักของอาการปวดคอและบ่า ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานหรือทำงานอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ซึ่งอาจส่งผลให้เป็นโรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ที่อาจทำให้เกิดความเจ็บปวดรุนแรงขึ้นในเวลาต่อมาได้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยแก้ปัญหาปวดคอและบ่าที่ต้นเหตุ ควรปรับท่านั่งทำงานให้เหมาะสม เช่น นั่งหลังตรง ไม่งอหรือโน้มตัวมาด้านหน้ามากจนเกินไป รวมถึงควรมีเวลาพักเพื่อลดความตึงหากต้องนั่งทำงานนานๆ อีกทั้งควรปรับท่านอนให้เหมาะสมโดยไม่นอนหมอนสูงเกินไปอีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง …
4. ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม
นอกจากพฤติกรรมส่วนตัวแล้วการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงานก็เป็นสิ่งจำเป็น สำหรับผู้ที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานควรจัดให้หน้าจออยู่ในระดับสายตา ใช้เก้าอี้ทำงานแบบมีแขน ปรับเก้าอี้ให้นั่งแล้วหัวเข่าอยู่ต่ำกว่าสะโพกเล็กน้อยหรือใช้เบาะรองนั่งเพื่อสุขภาพที่มีขายอยู่หลากหลายแบบซึ่งจะช่วยจัดท่านั่งให้เหมาะสมได้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงผู้ที่ขับรถควรมีพนักพิงรองที่ต้นคอหรือศีรษะเพื่อให้ร่างกายอยู่ในท่าทางที่เหมาะสม
5. ไปพบแพทย์
วิธีสุดท้ายในการรักษาอาการปวดคอและบ่าโดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการเรื้อรังเป็นเวลานานคือการพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ โดยการรักษาอาการปวดทางการแพทย์มีหลายวิธี ได้แก่
- การรักษาด้วยยา เช่น ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ
- การบำบัด เช่น กายภาพบำบัด การใช้กระแสไฟฟ้าระงับความปวด ใส่เฝือกคอชั่วคราวเพื่อช่วยพยุงคอ
- การผ่าตัดและการฉีดสเตียรอยด์
นอกจากอาการปวดคอ บ่า ไหล่ จะเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ก็ยังมีความเครียดเป็นปัจจัยที่ทำให้อาการเหล่านี้ยังคงอยู่ยาวนานยิ่งขี้น ดังนั้นการปรับพฤติกรรมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ควรจะทำควบคู่กันเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงในอนาคต
บทความแนะนำ …
- โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) คืออะไร? รักษาได้อย่างไร?
- วิธีการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม ปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ ด้วยแพทย์ทางเลือก
- วิธีป้องกันออฟฟิศซินโดรมสำหรับมนุษย์เงินเดือน ก่อนจะสายเกินแก้!
- ปวดคอ ปวดบ่า!…ทำอย่างไรดี? สาเหตุและวิธีแก้อาการปวดคอและบ่า
- ปวดหลัง!…ทำอย่างไรดี? สาเหตุและวิธีแก้อาการปวดหลัง
- ปวดข้อมือ!…ทำอย่างไรดี? สาเหตุและวิธีแก้อาการปวดข้อมือ
- หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท…มีอาการแบบไหน รักษาได้อย่างไร?