ปวดข้อมือ!…ทำอย่างไรดี? สาเหตุและวิธีแก้อาการปวดข้อมือ

483
ปวดข้อมือ

อาการปวดข้อมือถือเป็นอีกอาการหนึ่งที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ส่วนมากอาการจะเริ่มจากปวดที่ข้อมือโดยเริ่มจากการปวดไม่มากนักแล้วค่อยเพิ่มมากขึ้น หากปล่อยไว้ก็จะมีอาการชาที่ปลายนิ้วมือตามมาทำให้ปวดตลอดเวลา และส่งผลต่อการใช้ชีวิตเนื่องจากจะหยิบจับสิ่งของได้ลำบากและอาจรุนแรงจนขยับข้อมือไม่ได้เลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามอาการปวดข้อมือก็ยังสามารถรักษาให้หายขาดได้หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

สาเหตุของอาการปวดข้อมือ

อาการปวดข้อมืออาจเกิดจากสาเหตุได้หลายรูปแบบทั้งแบบเฉียบพลัน อาการเจ็บป่วยและจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งหากรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะยังสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากทิ้งไว้นานเกินไปก็อาจทำให้เจ็บปวดอย่างรุนแรงจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยสาเหตุหลักของอาการปวดข้อมือมีดังต่อไปนี้

  • อาการบาดเจ็บเฉียบพลันจากอุบัติเหตุ เช่น การใช้มือค้ำยันขณะหกล้ม ซึ่งทำให้ข้อมือบาดเจ็บโดยมักเกิดร่วมกับอาการบวมช้ำด้วย
  • จากพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพที่ต้องใช้มือตลอดเวลา ทั้งพนักงานขับรถ ช่างตัดผม นักกีฬาบางประเภท เช่น โบว์ลิ่ง รวมไปถึงพนักงานบริษัทที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน
  • อาการเจ็บป่วย เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้อเสื่อม รวมไปถึงอาการเจ็บป่วยจากโรคอื่นๆ ที่ส่งผลให้ปวดข้อมือ เช่น โรคเก๊าท์ ภาวะกระดูกข้อมือขาดเลือด

วิธีแก้อาการปวดข้อมือ

อาการปวดข้อมือสามารถรักษาให้หายด้วย โดยผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดอย่างเคร่งครัด รวมถึงปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตเพื่อให้หายขาดจากอาการเจ็บปวดนี้ โดยวิธีแก้อาการปวดข้อมือมีดังต่อไปนี้

1. ประคบเย็น

การแก้อาการปวดข้อมือเบื้องต้นคือควรพักการใช้งานบริเวณข้อมือและนิ้วโป้ง หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ควรให้ข้อมืออยู่ในระนาบเดียวกับแขน และประคบเย็นเป็นการบรรเทาอาการปวดหรือลดอาการบวม โดยใช้ผ้าห่อน้ำแข็งหรือใช้เจลเย็นวางลงบนบริเวณที่เจ็บประมาณ 2 – 3 นาที 

2. ใช้อุปกรณ์พยุงข้อมือ

การใช้อุปกรณ์พยุงข้อมือหรือเข้าเฝืออกบริเวณแขนและนิ้วโป้ง เพื่อช่วยให้ข้อมือและกระดูกข้อต่อบริเวณใต้นิ้วโป้งอยู่กับที่หรือเคลื่อนที่น้อยลง ช่วยให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อได้หยุดพัก โดยอุปกรณ์พยุงข้อมือและเฝือกจะช่วยป้องกันการบาดเจ็บอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

3. รับประทานยา

การรักษาด้วยยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด เช่น ยาพาราเซตตามอล ยาแก้อักเสบ ซึ่งหลังจากรับประทานยาแล้วหากไม่ดีขึ้น แพทย์อาจต้องทำการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปที่ข้อมือเพื่อลดอาการอักเสบ แต่อย่างไรก็ตามการฉีดยาสเตียรอยด์หลายๆ ครั้งอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ แพทย์ส่วนใหญ่จึงไม่แนะนำให้ฉีดยาเพื่อลดอาการอักเสบเกิน 3 ครั้ง

4. เข้ารับการผ่าตัด

หลังจากรักษาอาการปวดมือด้วยการรับประทานยาหรือฉีดรวมไปถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วก็ยังไม่ได้ผล แพทย์จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อช่วยรักษาอาการปวด เช่น ผ่าตัดนำพังผืดบางส่วนออกเพื่อลดแรงกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ หรือผ่าตัดเพื่อเพิ่มพื้นที่ไม่ให้เส้นเอ็นเสียดสีกันภายในปลอกหุ้มเอ็นรวมไปถึงการผ่าตัดเพื่อใช้โลหะยึดกระดูกด้วยเช่นกัน

5. ทำกายภาพบำบัด

การรักษาด้วยกายภาพบำบัดเป็นการรักษาหลังการผ่าตัดโดยนักกายภาพจะประเมินวิธีรักษาและการออกกำลังกายที่เหมาะสมต่อการฟื้นฟูร่างกายหลังการผ่าตัดข้อมือโดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ของผู้ป่วย เพื่อช่วยรักษาอาการปวดข้อมือให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

อาการปวดข้อมือนั้นสามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวข้อมือในท่าซ้ำๆ นานจนเกินไป หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ผู้ที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ทั้งวันควรหาโฟมช่วยรองข้อมือเพื่อช่วยลดแรงกดที่ข้อมือ ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายอยู่เสมอเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อข้อมือได้อีกด้วย เท่านี้ก็จะเป็นการรักษาข้อมือให้ใช้งานได้อย่างยาวนานไร้ความเจ็บปวด