วิธีการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม ปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ ด้วยแพทย์ทางเลือก

441
วิธีการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมด้วยแพทย์ทางเลือก

อาการปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่และสะบัก เป็นส่วนหนึ่งของอาการจาก “โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ซึ่งเป็นโรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน ถ้าหากปล่อยไว้ก็จะทำให้อาการรุนแรงขึ้นจนขัดขวางการใช้ชีวิตประจำวันทำให้ผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก วันนี้เราจึงจะพามาทำความรู้จักถึงสาเหตุและวิธีการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมด้วยแพทย์ทางเลือกเพื่อเป็นตัวช่วยในการแก้อาการจากโรคนี้กัน

ออฟฟิศซินโดรมคืออะไร?

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) คือ โรคที่อยู่ในกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อหรือเยื่อพังผืด ซึ่งเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อแบบเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานาน โดยอาการของออฟฟิศซินโดรมนั้นเกิดขึ้นได้หลายส่วน เช่น คอ บ่า ไหล่ สะบัก โดยไม่สามารถระบุตำแหน่งที่เจ็บได้อย่างชัดเจน ซึ่งอาจลุกลามจนกลายเป็นความเจ็บปวดเรื้อรังและเกิดอาการชาที่แขนหรือมือตามมาได้

นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มึนงง หูอื้อ ตาพร่า และส่งผลให้เกิดอาการของโรคทางกล้ามเนื้อและระบบกระดูกตามมาได้ในท้ายที่สุด เช่น กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง นิ้วล็อก เอ็นรัดข้อมืออักเสบกดทับเส้นประสาท และปวดหลังจากท่าทางผิดปกติ

บทความที่เกี่ยวข้อง…

สาเหตุของออฟฟิศซินโดรม

ออฟฟิศซินโดรมมักเกิดจากพฤติกรรมการทำงานอยู่ในท่าทางเดิมเป็นเวลานานหรืออยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมสะสมอย่างต่อเนื่อง ทำให้กล้ามเนื้อมัดเดิมทุกใช้งานเป็นประจำ เช่น การทำงานหน้าคอมพิวเตอร์โดยไม่ขยับตัวเปลี่ยนท่าทางเลยตลอดทั้งวัน ทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรังรวมไปถึงอาการชาที่แขนหรือมือเนื่องจากเส้นประสาทส่วนปลายถูกกดทับอย่างต่อเนื่อง

โดยสาเหตุเหล่านี้ส่วนใหญ่มักเกิดจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น โต๊ะหรือเก้าอี้ที่ไม่ส่งเสริมให้ร่างกายอยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น เช่น ความเครียด การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ทำให้ออฟฟิศซินโดรมเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับวัยทำงานเป็นส่วนใหญ่

วิธีรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยแพทย์ทางเลือก

แนวทางการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมนั้นมีหลายวิธี ทั้งกายทำกายภาพบำบัดในผู้ป่วยระยะเบื้องต้น การให้ยาแก้ปวดหรือแก้อับเสบในผู้ที่มีอาการเรื้อรัง ไปจนถึงฉีดยาหรือผ่าตัดในผู้ที่มีอาการรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่นอกจากการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว การรักษาออฟฟิศซินโดรมก็ยังมีแพทย์ทางเลือกอื่นๆ ให้เลือกอยู่หลายแบบดังต่อไปนี้

1. โปรแกรมลดอาการปวด

เนื่องจากผู้ป่วยออฟฟิศซินโดรมที่มีจำนวนมากขึ้นทุกวัน โรงพยาบาลต่างๆ จึงได้รวบรวมการรักษาเป็นแพ็กเกจสำหรับโรคนี้โดยเฉพาะ โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยอาการเบื้องต้นก่อนส่งต่อไปรักษาด้วยวิธีต่างๆ  เช่น

  • การรักษาด้วยแผ่นประคบร้อน (Hot Compression)
  • การรักษาด้วยคลื่นเหนือเสียง (Ultrasound Therapy)
  • การนวดด้วยเทคนิคทางกายภาพบำบัด (Massage therapy)
  • การรักษาด้วยการกระตุ้นไฟฟ้าลดอาการปวด (TENS)

2. การนวดกดจุดแบบจีน

การนวดกดจุดเป็นการรักษาแขนงหนึ่งจากประเทศจีนซึ่งเป็นการกดตามจุดต่างๆ ในร่างกายที่ส่งผลถึงส่วนที่เจ็บปวด ช่วยลดอาการเกร็งหรือกล้ามเนื้อตึง อีกทั้งช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ดียิ่งขึ้น เช่น การกดจุดเฉิงชี่ซึ่งอยู่ใต้ดวงตาทั้งสองข้างช่วยแก้อาการปวดตาหรือตาล้า จุดเยาเหยี่ยนซึ่งอยู่ช่วงกลางแผ่นหลังถัดจากกระดูกสันหลังไปด้านข้าง 3 – 4 นิ้ว การกดจุดนี้จะช่วยคลายกล้ามเนื้อส่วนหลังไปจนถึงอาการปัสสาวะขัด โดยการกดจุดแบบจีนนั้นทำได้ไม่ยากและช่วยบรรเทาอาการปวดได้

3. แพทย์แผนจีน

การแพทย์แผนจีนเป็นแนวทางแพทย์ทางเลือกที่ได้รับความนิยมในการรักษาโรคต่างๆ โดยใช้สมุนไพรและวิธีการตามศาสตร์ขนาดจีน สำหรับการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมนั้นก็มีการรักษาหลายแบบที่จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและช่วยคลายกล้ามเนื้อ ได้แก่

  • การฝังเข็ม เพื่อกระตุ้นเลือดลมโดยฝังเข็มลงบนเส้นลมปราณ เช่น บ่า ไหล่ ช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นและลดอาการปวดเฉพาะจุดได้อีกด้วย
  • การครอบแก้ว โดยแพทย์จะทำการไล่สุญญากาศในแก้วออกด้วยความร้อนแล้วครอบลงบนบริเวณผิวหนัง ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวเบาสบายมากขึ้น

4. การจัดกระดูก

การจัดกระดูกหรือไคโรแพรกติก (Chiropractic) คือ ศาสตร์แขนงหนึ่งเกี่ยวกับการฟื้นฟูที่ให้ความสำคัญกับโครงสร้างสรีระร่างกาย เช่น กระดูกสันหลัง โดยคำว่าไคโรแพรกติกมากจากภาษากรีกแปลว่าการรักษาด้วยมือ การรักษาด้วยวิธีนี้แพทย์จะใช้เป็นผู้กดหรือดันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เป็นการจัดกระดูกที่อยู่ผิดตำแหน่งให้เข้าที่โดยไม่ต้องพึ่งการใช้ยาหรือผ่าตัดเลยนั่นเอง

สำหรับศาสตร์การแพทย์ก็มีวิธีการจัดกระดูกอยู่เช่นกันหรือที่เรียกว่าทุยหนา เป็นการกด คลึงหรือบีบ ตามจุดต่างๆ ของเส้นลมปราณบนร่างกายโดยอาจทำร่วมกับการฝังเข็มและรับประทานยาสมุนไพรจีน ซึ่งจะช่วยรักษาโรคอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน

ถึงแม้ว่าจะมีแนวทางการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมหลากหลายวิธีแต่หากไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตแล้วก็จะกลับมาเป็นอีกได้ หัวใจสำคัญของการรักษาและป้องกันออฟฟิศซินโดรมจึงต้องเริ่มต้นด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนท่าทางระหว่างการทำงาน ไม่อยู่ในท่าเดิมนานจนเกินไป ยืดกล้ามเนื้อด้วยท่าทางที่ถูกต้องและออกกำลังกายอยู่เสมอ รวมไปถึงลดความเครียดและพักผ่อนให้เพียงพอก็เป็นแนวทางการป้องกันโรคนี้อย่างยั่งยืนแล้ว