อยากไปทํางานต่างประเทศ!…วิธีไปทำงานและหางานต่างประเทศแบบถูกกฎหมาย

2042
วิธีการไปทำงานและหางานต่างประเทศ

หลายคนอยากไปทำงานต่างประเทศเพราะจะได้ไปทำงานต่างถิ่น เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ เจอผู้คนใหม่ๆ และยังเพิ่มโอกาสในการพัฒนาด้านภาษาและทักษะอาชีพอีกมาก ซึ่งลู่ทางการไปทำงานต่างประเทศนั้นมีหลากหลาย แต่ก็ต้องดูว่าถูกกฎหมายหรือไม่ เพื่อจะได้ไม่ต้องมาเดือดร้อนภายหลัง

6 วิธีการไปทำงานและหางานต่างประเทศแบบถูกกฎหมาย

1. ไปกับบริษัทจัดหางาน

หนึ่งในวิธีการไปทำงานที่ต่างประเทศแบบถูกกฎหมายคือสมัครงานกับบริษัทจัดหางาน แต่อย่างไรก็ตาม ต้องตรวจสอบด้วยว่าบริษัทจัดหางานนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ โดยบริษัทจัดหางานที่ถูกต้องตามกฎหมาย เบื้องต้นแล้ว เมื่อเราขอดูใบอนุญาตการจดทะเบียนต่อกรมการจัดหางาน ต้องให้ดูอย่างเปิดเผย หรือติดประกาศไว้อย่างเปิดเผย เห็นได้ชัด ณ สำนักงานที่ได้รับอนุญาต และยังต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ ดังนี้

  • ไม่ใช่นายหน้าเถื่อนในการจัดหางาน โดยสามารถขอดูใบจดทะเบียนของพนักงานหรือตัวแทนจัดหางานได้
  • ปกติแล้วบริษัทจัดหางานจะเรียกเก็บเงินค่าหัวกับผู้หางาน โดยต้องเป็นไปตามกฎหมายและมีใบเสร็จให้ผู้หางานเก็บไว้เป็นหลักฐาน
  • กรณีได้งานที่ต่างประเทศแล้ว บริษัทจัดหางานจะเรียกเก็บเงินล่วงหน้าได้ไม่เกิน 30 วันก่อนเดินทาง และถ้าบริษัทไม่ส่งไปทำงานตามกำหนด ต้องคืนเงินให้ทันที
  • ต้องส่งคนงานไปตรวจโรค ณ สถานพยาบาลตามที่กรมการจัดหางานประกาศรายชื่อไว้
  • ต้องส่งคนหางานไปทดสอบฝีมือ ณ สถานทดสอบฝีมือตามที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานอนุญาต
  • ต้องพาคนงานเข้ารับการฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางานก่อนเดินทาง
  • ต้องพาคนหางานเดินทางออกไปทำงานต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานของกรมการจัดหางาน

2. สมัครกับกรมการจัดหางาน

การสมัครกับกรมการจัดหางานนั้นไม่ยาก ไม่ว่าจะอยู่ต่างจังหวัดหรือกรุงเทพก็สมัครได้ ถ้าอยู่ที่กรุงเทพ สามารถสมัครได้ที่สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพทุกพื้นที่ ถ้าเป็นต่างจังหวัดสามารถสมัครที่สำนักงานจัดหางานประจำจังหวัด

ข้อดีของการสมัครกับกรมการจัดหางานคือไม่ต้องเสียค่าบริการนอกจากค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่จำเป็น เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่า ค่าที่พักสำหรับเตรียมตัวก่อนเดินทาง เป็นต้น

เอกสารที่ต้องใช้ในการสมัครงาน

  • รูปถ่าย 2 นิ้ว 2 รูป
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  • ใบผ่านงาน (ถ้ามี)
  • สำเนาหนังสือเดินทาง (ถ้ามี)

ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการหางานต่างประเทศ ควรทำหนังสือเดินทางเตรียมเอาไว้ เพราะจะได้รับพิจารณาคัดเลือกก่อนผู้ที่ไม่มีหนังสือเดินทาง

3. สมัครงานในบริษัทต่างชาติ

การหางานที่เป็นบริษัทต่างชาติก็เป็นการเพิ่มโอกาสให้ตัวเองในการทำงานต่างประเทศ เพราะมีสิทธิ์ที่นายจ้างจะส่งพนักงานไปทำงานที่บริษัทแม่ ซึ่งเราต้องเตรียมตัวให้พร้อมในภาษาอังกฤษ หรือภาษาที่สามที่บริษัทแม่ตั้งถิ่นฐานอยู่

4. ใช้ Linkedin.com ค้นหางาน

Linkedin.com เป็นโซเชียลมีเดียสำหรับการหางานโดยเฉพาะ ผู้ประกอบการและ HR หลายคนก็เล่น Linkedin เพื่อหาคนที่มีโปรไฟล์น่าสนใจไปร่วมงานด้วย ถ้าอยากเข้าหางานด้วยตนเองสามารถค้นหาตำแหน่งงานที่รับคนไทยในต่างประเทศได้เลย โดยอย่าลืมกรอกประวัติและข้อมูลของตนเองให้น่าสนใจและเรียบร้อยครบถ้วน

5. หาคอนเน็คชั่นจากบุคคลต่างๆ ไว้

ควรหาคอนเน็คชั่นทั้งคนต่างชาติ หรือคนไทยที่ทำงานในต่างประเทศ ถ้ามีโอกาสได้ทำความรู้จักก็ไม่ควรพลาด เพราะจะได้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานในต่างประเทศ หรืออาจได้ช่องทางในการไปทำงานต่างประเทศก็ได้

6. ลงทะเบียนเพื่อไปทำงานต่างประเทศ

เมื่อได้งานทำที่ต่างประเทศแล้ว ขั้นตอนที่ต้องทำเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายคือลงทะเบียนไปทำงานต่างประเทศ มีดังนี้

  1. ไปที่สำนักงานจัดหางานจัดหวัดหรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพตามภูมิลำเนา พร้อมหลักฐานดังนี้
    • บัตรประจำตัวประชาชน
    • หลักฐานการศึกษา
    • ใบรับรองทดสอบฝีมือ
  2. กรอกแบบลงทะเบียน โดยลงทะเบียนเพียงครั้งเดียว แล้วส่งไปรษณียบัตรถึงศูนย์ทะเบียนเพื่อยืนยันความประสงค์จะไปทำงานทุกวันที่ 25 ของเดือน
  3. ทำหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) โดยเสียค่าใช้จ่าย 1,000 บาท สถานที่ที่สามารถทำหนังสือเดินทางได้ในปัจจุบันมีหลายแห่ง อาทิ
    • กรมการกงศุล กระทรวงการต่างประเทศ แจ้งวัฒนะ
    • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวในกรุงเทพ เช่น บางนา-ศรีนครินทร์, ปิ่นเกล้า, MRT คลองเตย
    • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวในต่างจังหวัด เช่น  เชียงใหม่, นครสวรรค์, ขอนแก่น, ภูเก็ต
  4. ตรวจสุขภาพในโรงพยาบาลที่กรมการจัดหางานประกาศรายชื่อไว้ โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณไม่เกิน 1,500 บาท

สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการไปทำงานต่างประเทศคือทักษะด้านภาษา อย่างน้อยที่สุดต้องมีความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ เพราะถึงจะได้ไปทำงานในประเทศที่ใช้ภาษาอื่นๆ แต่ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง ทำให้สื่อสารได้ในเบื้องต้น แล้วอาจค่อยๆ ศึกษาภาษาที่สามควบคู่ไปกับการทำงานก็ได้