แผลเป็น…ทำอย่างไรดี? ประเภทและวิธีรักษารอยแผลเป็น

400
แผลเป็น

แผลเป็น ไม่ว่าจะเกิดจากปัญหาผิว เช่น สิว โรคอีสุกอีใส หรือเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น มีดบาด อุบัติเหตุรถชน ไฟไหม้ หกล้ม ก็ถือว่าเป็นการทิ้งรอยไม่น่าดูไว้บนร่างกาย และแผลเป็นบางชนิดยังสร้างผลเสียกว่าที่คิด ดังนั้นหากเกิดแผลเป็นขึ้นมาแล้วควรทราบว่าเป็นแผลเป็นประเภทใด และควรรักษาอย่างไรเพื่อให้ผิวกลับมาเรียบเนียนเหมือนเดิม

วิธีการรักษารอยแผลเป็น

ประเภทของรอยแผลเป็น

1. แผลเป็นโตนูน

  • แผลเป็นคีลอยด์ (Keloid) มีลักษณะนูนจากผิวหนัง เป็นมันเงา อาจเป็นก้อนแข็งหรือนุ่ม แต่จะมีการขยายขอบเขตไปเรื่อยๆ เพราะมีการผลิตคอลลาเจนเพื่อสร้างเนื้อเยื่อออกมามากเกินไป มักทำให้เกิดอาการคัน แสบร้อน แผลเป็นชนิดนี้มักเกิดที่บริเวณกระดูกหน้าอก แผ่นหลังส่วนบน ต้นแขน หัวไหล่ และติ่งหู และพบในผู้ป่วยที่มีผิวสีเข้มมากกว่า ยกตัวอย่างแผลเป็นคีลอยด์ เช่น แผลเป็นที่ติ่งหูหลังการเจาะ
  • แผลเป็นโตนูนหนา (Hypertrophic Scar) มีลักษณะโต นูน เพราะมีการผลิตคอลลาเจนที่บริเวณแผลมาก มักไม่มีอาการเจ็บปวด แต่มีอาการคันแดงในช่วงแรกๆ มีลักษณะคล้ายกับแผลเป็นคีลอยด์ แต่แตกต่างกันตรงที่ไม่ขยายขอบเขตของบาดแผลมากกว่าเดิม แผลเป็นโตนูนจะค่อยๆ จางลงในช่วงเวลา 2-5 ปี

2. แผลเป็นบุ๋มลึก (Depressed Scar)

มีลักษณะเป็นร่องหลุมลึกลงไปจากผิวหนังปกติ มักเกิดจากปัญหาผิวหนัง เช่นสิว หรือโรคอีสุกอีใส

3. แผลเป็นหดรั้ง (scar contracture)

มีลักษณะที่ดึงรั้งผิวหรืออวัยวะรอบๆ แผลให้ผิดรูป ทำให้ผิวหนังตึง เคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่ สามารถเกิดลึกลงไปจนเกิดผลกระทบต่อกล้ามเนื้อและระบบประสาทได้ ยกตัวอย่างเช่น แผลเป็นจากแผลไฟไหม้

วิธีการรักษารอยแผลเป็น

1. การใช้ยาทาแก้แผลเป็น

ถ้าแผลมีขนาดไม่ใหญ่มาก วิธีนี้ก็เป็นวิธีที่เหมาะมาก เพราะยาทาแก้แผลเป็นสามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยา โดยเลือกยาที่มีส่วนผสมที่ช่วยลดรอยแผลเป็น เช่น วิตามินบี 3, วิตามินอี และ วิตามินซี เป็นต้น เพียงทาเป็นประจำทุกวันติดต่อกันจนกว่าแผลจะจางลง

2. การใช้เจลหรือแผ่นซิลิโคนลดแผลเป็น

เจลหรือแผ่นซิลิโคนลดแผลเป็นสามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป วิธีใช้คือนำมาปิดบนบาดแผลวันละ 12 ชั่วโมง ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน เจลหรือแผ่นซิลิโคนมีคุณสมบัติเพิ่มความชุ่มชื้นและลดอาการอักเสบ สามารถใช้กับแผลเป็นโตนูนหนา และช่วยในการลดการขยายตัวของแผลเป็นคีลอยด์ได้

3. การใช้แผ่นแปะผ้ากด

วิธีนี้เหมาะกับแผลเป็นจากไฟไหม้ หรือการปลูกถ่ายผิวหนัง เพราะจะทำให้แผลแบนและนุ่มขึ้น โดยนำแผ่นผ้าแปะกดที่แผลไว้ตลอดวัน ต่อเนื่อง 6-12 เดือน สามารถใช้ควบคู่กับเจลหรือแผ่นซิลิโคนลดแผลเป็นได้

4. การทำเลเซอร์

วิธีนี้เหมาะกับการรักษาแผลเป็นบุ๋มลึกที่เกิดจากสิว หรือแผลเป็นที่มีสีเข้ม โดยเลเซอร์จะกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิวหนัง แต่วิธีนี้ต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

5. การฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์

คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) คือยากลุ่มสเตียรอยด์ที่มีคุณสมบัติช่วยลดอาการอักเสบ จะใช้กับแผลเป็นนูนโต โดยใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์เข็มเล็กๆ ฉีดลงไปที่แผลหลายๆ ครั้งขึ้นอยู่กับชนิดแผล และมักต้องฉีดซ้ำ 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างประมาณ 4-6 สัปดาห์เพื่อดูว่าการรักษาแบบนี้ได้ผลหรือไม่ ถ้าได้ผลดีก็สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ต่อได้

6. การฉีดฟิลเลอร์

การฉีดฟิลเลอร์เหมาะสำหรับการรักษาแผลเป็นจากหลุมสิว ทำให้ผิวที่เป็นหลุมได้รับความเติมเต็ม เรียบเนียน แต่ต้องฉีดซ้ำบ่อย และผลลัพธ์ไม่คงอยู่ถาวร

บทความที่เกี่ยวข้อง …

7. การผ่าตัดแผลเป็น

วิธีนี้เหมาะกับการรักษาแผลเป็นหดรั้งที่ส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ แต่ต้องระวังผลข้างเคียง และการได้แผลเป็นจากแผลผ่าตัด

จริงอยู่ว่าแผลเป็นบางแห่งก็สามารถปล่อยทิ้งไว้ได้ไม่จำเป็นต้องรักษา บางคนอาจมองว่าเท่ด้วยซ้ำ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ระลึกถึงประสบการณ์บางอย่าง แต่แผลเป็นอย่างแผลเป็นหดรั้งที่มีขนาดใหญ่และส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ นั้นไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษาจะดีที่สุด