การจัดเรทเกม (Game Rating)…สัญลักษณ์ต่างๆ ในเกมหมายความว่าอะไรนะ?

3268
การจัดเรทเกม (Game Rating)

เกมปัจจุบันมีเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งเกมที่สร้างจากจินตนาการและความสมจริง ซึ่งเกมแต่ละแบบก็มีเนื้อหาที่เหมาะกับผู้เล่นที่มีช่วงอายุแตกต่างกันไป ดั้งนั้นการมีหน่วยงานที่คอยตรวจสอบเนื้อหาในเกมและคอยจัดเรทเกม (Game Rating) จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งในแต่ละโซนก็มีชื่อเรียกและเกณฑ์การแบ่งที่แตกต่างกันไป ซึ่งที่คอเกมคุ้นเคยกันดีก็มีดังต่อไปนี้

ESRB (Entertainment Software Rating Board)

ESRB หรือชื่อเต็มๆ ว่า Entertainment Software Rating Board คือ คณะกรรมการจัดเรทสื่อซอฟต์แวร์เพื่อความบันเทิง ก่อตั้งในปี 1994 ที่สหรัฐอเมริกา แต่เดิมมีชื่อว่า Interactive Digital Software Association

ปัจจุบัน ESRB มีบทบาทสำคัญในวงการเกมและผู้ผลิตและจำหน่าย เนื่องจากผู้ผลิตต้องส่งตัวอย่างเกมให้ ESRB ตรวจสอบก่อนวางจำหน่ายเสมอ ซึ่งมีการแบ่งเรทติ้งเกมออกเป็น 7 เรทดังนี้

  • EC – Early Childhood
    เหมาะกับเด็กอายุ 3 – 6 ปี เนื้อหาไม่มีความรุนแรง
  • E – Everyone
    เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป เนื้อหามีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เช่น เกมกีฬาที่ไม่ใช่การต่อสู้ ภาษาที่ใช้เป็นภาษาสุภาพ
  • E10+  – Everyone 10+
    เหมาะสำหรับเด็กอายุ 10 ปีขึ้นไป เนื้อหามีความรุนแรงมากขึ้น เช่น มีการต่อสู้เล็กน้อยภายในเกม ภาษามีความซับซ้อนขึ้น มีการเล่นมุกตลกเสียดสีบ้าง
  • T  – Teen
    เหมาะสำหรับเด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป เนื้อหามีความรุนแรงแต่ไม่มาก มีเลือดและยาเสพติดประเภทเหล้าและบุหรี่ ภาษามีความรุนแรงมากขึ้น มีภาพสรีระร่างกายเชิงเพศชัดขึ้นแต่ไม่โป๊เปลือย เนื้อหาส่งผลต่อจิตวิทยาในด้านลบมากขึ้น
  • M – Mature
    เหมาะสำหรับเด็กอายุ 17 ปีขึ้นไป เนื้อหามีความรุนแรง มีฉากต่อสู้ มียาเสพติด มีฉากเปลือยกาย ภาษามีศัพท์แสลง มีคำหยาบคาย มีเนื้อหากระตุ้นให้ทำความผิด
  • AO – Adults Only
    เหมาะสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น ในสหรัฐอเมริกาหมายถึงผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เนื้อหามีความรุนแรงสูง มีฉากนองเลือกและฉากเกี่ยวกับเพศรุนแรง เช่น การร่วมเพศ หรือเห็นอวัยวะเพศ มีคำหยาบคาย และการกระตุ้นให้ทำผิดศีลธรรม
  • RP – Rating Pending
    เรทนี้หมายถึงเกมยังไม่ได้รับการพิจารณาเรทอย่างเป็นทางการ มักเป็นเกมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาแต่โฆษณาเกมก่อนจำหน่าย

PEGI (Pan-European Game Information)

PEGI หรือชื่อเต็มว่า Pan European Game Information คือ สำนักงานสารสนเทศเกมแห่งภาคพื้นยุโรป ก่อตั้งเมื่อปี 2003 เป็นองค์กรที่ควบคุมการจัดเรทของเกมที่จัดจำหน่ายผ่าน สำนักงานซอฟต์แวร์เชิงโต้ตอบแห่งสหภาพยุโรป (Interactive Software Federation of Europe หรือ ISFE) ในทุกประเทศในทวีปยุโรป 25 ประเทศ มีการแบ่งเรทติ้งเกม 6 เรทตามอายุ ดังนี้

  • PEGI 3
    เหมาะสำหรับคนทุกวัย มีความรุนแรงแบบการ์ตูนหรือแบบเรื่องในจินตนาการเพียงเล็กน้อย มีภาษาไม่เหมาะสมบ้างแต่ไม่บ่อย
  • PEGI 7
    เหมาะสำหรับเด็กอายุ 10 ปีขึ้นไป มีความรุนแรงแบบการ์ตูนหรือแบบเรื่องในจินตนาการมากขึ้น มีภาษาที่ไม่เหมาะสมบ้าง และเนื้อหาชี้นำทางเพศน้อยมาก
  • PEGI 12
    เหมาะสำหรับเด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป มีความรุนแรงมากขึ้น มีมุกตลกหยาบคาย มีเลือดและการพนัน มีเนื้อหาชี้นำทางเพศแต่น้อย
  • PEGI 16
    เหมาะสำหรับเด็กอายุ 17 ปีขึ้นไป มีความรุนแรงมาก มีการนองเลือด เนื้อหาชี้นำทางด้านเพศ ภาษามีความหยาบคาย
  • PEGI 18
    เหมาะสำหรับผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น มีฉากรุนแรงที่ต่อเนื่องและนาน เนื้อหาและภาพมีการชี้นำทางเพศ และมีการเล่นพนันด้วยเงินจริง

CERO (Computer Entertainment Rating Organization)

CERO หรือชื่อเต็มว่า Computer Entertainment Rating Organization คือองค์การจัดเรทความบันเทิงทางคอมพิวเตอร์ของประเทศญี่ปุ่น ทำหน้าที่ตรวจสอบและให้เรทของเกมที่จัดจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น มีการแบ่งเรทติ้งเกม 5 เรท ดังนี้

  • A (全年齢対象) – All ages
    เหมาะสำหรับผู้เล่นทุกเพศทุกวัย
  • B (12才以上対象) – Ages 12 and up
    เหมาะสำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป
  • C (15才以上対象) – Ages 15 and up
    เหมาะสำหรับเด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป
  • D (17才以上対象) – Ages 17 and up
    เหมาะสำหรับเด็กอายุ 17 ปีขึ้นไป
  • Z (18才以上のみ対象) – Ages 18 and up only
    เหมาะสำหรับผู้เล่นอายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น

จะเห็นได้ว่าการจัดเรทเกมในแต่ละโซน อาจมีสัญลักษณ์หรือตัวอักษรย่อไม่เหมือนกัน แต่ช่วงอายุที่เหมาะสมกับเนื้อหาเกมในแต่ละแบบจะมีความใกล้เคียงกัน โดยนอกจากเรทหลักที่เป็นตัวอักษรบ่งบอกอายุของผู้เล่นแล้ว หน่วยงานต่างๆ ยังมีเครื่องหมายอื่นๆ ที่สื่อถึงเนื้อหาหรือสิ่งที่มีในเกมนั้นด้วย เช่น Sex (เพศ), Violence (ความรุนแรง), (Drugs) ยาเสพติด, Gambling (การพนัน), Bad Language (ภาษาหยาบคาย) เป็นต้น

ดังนั้น สัญลักษณ์เรทเกมและเนื้อหาต่างๆ จึงมีประโยชน์อย่างมากในการตัดสินใจเลือกซื้อเกมที่เหมาะกับผู้เล่น รวมทั้งช่วยให้ผู้ใหญ่ดูว่าเกมไหนเหมาะสมกับเด็กหรือไม่ เพื่อที่เด็กๆ จะได้เล่นเกมที่เหมาะสมกับพัฒนาการนั่นเอง

บทความแนะนำ ...